Sunday, 26 February 2012

สาหร่ายเกลียวทอง


โภชนารักษาโรค
สาหร่ายเกลียวทอง (Spirulina)
 
 
สาหร่ายเกลียวทองคืออะไร
      สาหร่ายเกลียวทอง หรือ Spirulina spp. เป็นสาหร่ายที่จัดอยู่ในพวกสาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงินลักษณะโดยทั่วไปเป็นสาหร่ายหลายเซลล์ มีลักษณะเป็นสายสั้นๆ บิดตัวไปมาเป็นเกลียว เจริญเติบโตได้ดีในน้ำกร่อย ในเซลล์ไม่มีสารพวก Cellulose เป็นส่วนประกอบ จึงทำให้ร่างกายสามารถย่อยได้สูงถึง 95% ซึ่งทำให้ร่างกายสามารถใช้ประโยชน์จากสารอาหารในสาหร่ายเกลียวทองได้มาก นอกจากนี้ยังพบสารพวก คลอโรฟิลล์ (Chlorophyll) และไฟโคไซยานิน (Phycocyanin) ซึ่งเป็นสารที่มีสีน้ำเงินอยู่ปริมาณสูงซึ่งทำให้มีอัตราการสังเคราะห์แสงสูงด้วย

คุณสมบัติที่สำคัญของสาหร่ายเกลียวทอง
      คุณสมบัติสำคัญของสาหร่ายเกลียวทองที่ทำให้นักวิจัย นักค้นคว้าทดลอง ผู้เชี่ยวชาญตลอดจนนักลงทุนต่างๆ ให้ความสนใจเป็นอย่างมากต่อคุณสมบัติของสาหร่ายตัวนี้ก็คือ
       1.ความปลอดภัย และปราศจากสารพิษโดยสิ้นเชิง
       จากการทดสอบทางด้านเภสัชวิทยาเกี่ยวกับสาหร่ายเกลียวทอง พบว่าไม่มีพิษและไม่มีผลข้างเคียงต่ออวัยวะต่างๆ ของร่างกายตั้งแต่ระบบประสาทส่วนกลางลงมา การเจริญเติบโต การทำงานของอวัยวะต่างๆ การกินอาหาร ของสัตว์ทดลองเลย ซึ่งได้มีหน่วยงานต่างๆ หลายส่วน  เช่น ศูนย์วิจัยการเพาะพันธุ์สัตว์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเมจิ ของญี่ปุ่น เป็นต้น ได้ทำการทดลองผลการกินสาหร่ายเกลียวทองของหนูทดลองจำนวนมากเป็นเวลาหลายเดือน ซึ่งผลการทดลองได้ผลเหมือนกันคือไม่มีผลกระทบใดๆ ต่อหนูเลย ซึ่งสาหร่ายเกลียวทองนี้จะมีความแตกต่างจากสาหร่ายเซลล์เดียวบางชนิดที่ผลิตเป็นอาหารเสริมสุขภาพ โดยมีผลการรายงานจากสถาบันสุขาภิบาลศาสตร์แห่งชาติ และสำนักงานสุขภาพแห่งโตเกียวว่าผู้บริโภคสาหร่ายเซลล์เดียวมีอาหารไวต่อแสง โดยมีอาการอักเสบบริเวณที่ถูกแสงแดดมากๆ เป็นตุ่มผื่นคันและผิวแตก เป็นแผลอักเสบ ซึ่งอาการเหล่านี้จะเกิดจากสารในสาหร่ายเซลล์เดียวบางชนิด แต่ในสาหร่ายเกลียวทองไม่มีสารตัวนี้ จึงไม่ก่อให้เกิดอาการไวต่อแสง ซึ่งปลอดภัยต่อร่างการและสุขภาพ
       2.มีคุณค่าทางอาหารสูง
       จากการวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการพบว่าส่วนประกอบทางชีวเคมีของสาหร่ายเกลียวทอง มีสารอาหารต่างๆ เกือบครบถ้วนและมีในปริมาณที่สูงมากเมื่อเทียบกับอาหารชนิดอื่นๆ

ส่วนประกอบทางชีวเคมีของ สาหร่ายเกลียวทอง (Spirulina)
       จากการวิเคราะห์ส่วนประกอบของสาหร่ายเกลียวทองที่นำมาผลิตเป็นอาหารเสริมสไปรูลิน่าพบว่าประกอบด้วยสารต่างๆ ดังนี้
      สาหร่ายเกลียวทอง 1 กรัม ประกอบด้วย
ก.โปรตีน                                   61.500 มก.
ข.วิตามิน
       วิตามินอี                            2.530 มก.
       โปรวิตามิน เอ(เบต้า-แคโรทีน)  1.170 มก.
       วิตามิน ซี                           1.140 มก.
       วิตามิน บี 1                         0.100 มก.
       วิตามิน บี 2                        0.023 มก.
       วิตามิน บี 3                         0.090 มก.
       วิตามิน บี 12                        0.002 มก.
       ไนอะซินและไนอะซินาไมด์               2.670 มก.
       แคลเซียมแพนโทเทเนท                 0.025 มก.
       โฟลิก                              0.343 มก.
ค.เกลือแร่
       โปแตสเซียม                          12.300 มก.
       ฟอสฟอรัส                           9.100 มก.
       โซเดียม                             3.870 มก.
       แคลเซียม                           1.140 มก.
       เหล็ก                               0.370 มก.
       มักเนเซียม                           2.370 มก.
       สังกะสี                              0.020 มก.
       เซเลเนียม                           1.000 มก.
       มังกานีส                            0.030 มก.
ง.กรดอะมิโน
       ลูซีน                               67.30 มก.
       เฟนีลอะลานีน                        28.00 มก.
       เวลีน                               42.10 มก.
       ไลซีน                              33.10 มก.
       ไอโซลูซีน                                  35.40 มก.
       เมไธโอนีน                           11.20 มก.
       ธรีโอนีน                            47.30 มก.
       ทริปโตเฟน                          13.00 มก.
       ฮีสติดีน                             14.80 มก.
       แอสพาร์ราจีน                        15.40 มก.
       เซรีน                               40.30 มก.
       แอสฟาเตด                          52.60 มก.
       กลูตามิกแอซิด                        75.60 มก.
       กลูตามิน                            22.30 มก.
       โปรลีน                             20.50 มก.
       ไกลซีน                             34.00 มก.
       อะลานีน                            53.50 มก.
       คีสทีน                              1.400 มก.
       ไทโรซีน                             21.70 มก.
       อาร์จินีน                            49.20 มก.

       เปรียบเทียบปริมาณโปรตีน (PROTEIN)
       อาหาร                             100 กรัม
       เนื้อวัว                              18-20 กรัม
       ไข่                                 10-25 กรัม
       ข้าวสาลี                             6-10 กรัม
       ข้าวเจ้า                             7 กรัม
       ถั่วเหลือง                            33-35 กรัม
       ปลาทู                              20 กรัม
       สาหร่ายคลอเรลลา              40-56 กรัม
       สาหร่ายเกลียวทอง              69-71 กรัม

       โปรตีนในสาหร่ายนี้มีสูงถึง 65-70% ของน้ำหนักแห้ง ซึ่งจะสูงกว่าโปรตีนในเนื้อและไข่ ในเนื้อสัตว์มีโปรตีน 20% และในไข่มีโปรตีน 18% เท่านั้นและสูงกว่าถั่วเหลืองซึ่งมีโปรตีน 35% เท่านั้น นอกจากจะมีโปรตีนสูงแล้วโปรตีนนี้ยังประกอบด้วยกรดอะมิโนคุณภาพดี (Essential amino acids) ที่ร่างกายต้องการครบถ้วน มีสัดส่วนเหมาะสมตามที่ FAO/WHO แนะนำ
       วิตามินและเกลือแร่ จากการวิเคราะห์พบว่าในสาหร่ายเกลียวทองมีปริมาณวิตามิน เกลือแร่อยู่ครบถ้วนและอยู่ในปริมาณที่เหมาะสมเมื่อเทียบต่อน้ำหนักกับอาหารชนิดอื่นๆ มีวิตามินบี 1 มากกว่าผักผลไม้ ปู ปลา หอย ไก่ เกือบ 100 เท่า มีวิตามินบี 2 มากกว่าอาหารอื่นๆ 5-20 เท่า นอกจากนั้นยังมี วิตามิน E, C, B6, B12 ไนอะซิน, โฟลิกและเบต้า-แคโรทีน (Beta-carotene) ส่วนเกลือแร่ก็จะมี  เช่น โปแตสเซียม ฟอสฟอรัส แคลเซียม เหล็ก มักนีเซียม สังกะสี โซเดียม เซเลเนียม มังกานีส อยู่ในปริมาณที่สูงเช่นกัน
       3.มีผลผลิตสูง
       4.การเก็บเกี่ยวทำได้ง่าย
       นอกจากนี้สาหร่ายเกลียวทองยังมีสารคลอโรฟิลล์และไฟโคไซยานิน อยู่สูงมากๆ ซึ่งมีนักวิจัยกล่าวว่าสารคลอโรฟิลล์นี้จะช่วยเร่งการกำจัดสารพิษจากระบบทางเดินอาหาร กระแสเลือด ตับ และผลต่อการทำงานของกรดอะมิโน ระบบภูมิคุ้มกันและการเจริญของสัตว์อีกด้วย

สาหร่ายเกลียวทองกับสุขภาพ
      สาหร่ายเกลียวทอง เพิ่งได้รับความสนใจมาไม่นานนี้เอง แต่ปัจจุบันสาหร่ายเกลียวทองเป็นที่รู้จักและเป็นที่นิยมกันอย่างแพร่หลายเช่น ญี่ปุ่น แม็กซิโก สหรัฐฯ แอฟริกา ฝรั่งเศส เป็นต้น นอกจากสาหร่ายเกลียวทองกำลังเป็นที่สนใจเพราะเป็นอาหารที่ใช้เป็นอาหารหลักได้แล้ว คุณค่าทางโภชนาการของสาหร่ายนี้ก็มีมากมายมีสารอาหารต่างๆ ที่สมบูรณ์ทั้งโปรตีน ที่มีสูงประมาณ 60-70% มีกรดอะมิโนที่จำเป็นต่อร่างกาย มีวิตามินและเกลือแร่ต่างๆ เกือบครบถ้วนและสาหร่ายเกลียวทองเป็นอาหารที่มีความเป็นด่าง (Alkaline Food) ซึ่งเป็นผลดีต่อร่างกาย คุณสมบัติอีกอย่างที่สำคัญคือมีผนังเซลล์ที่บางสามารถย่อยสลายได้ง่ายจึงทำให้ร่างกายดูดซึมเอาสารอาหารต่างๆ ที่มีในสาหร่ายเกลียวทองไปใช้ได้สูงซึ่งข้อดีต่างๆ เหล่านี้จึงเป็นผลให้ผู้คนหันมาสนใจและบริโภคสาหร่ายเกลียวทองกันเพิ่มขึ้นๆ ทุกวัน

บุคคลใดบ้างที่ควรบริโภคสาหร่ายเกลียวทอง
      สาหร่ายเกลียวทองเป็นอาหารที่ปลอดภัยปราศจากพิษต่างๆ ดังนั้นการบริโภคสาหร่ายจึงไม่มีพิษภัยอะไร นอกจากนั้นการบริโภคสาหร่ายนี้ยังเป็นการเสริมสุขภาพให้มีความสามารถในการป้องกันโรคได้ ในคนที่ปกติ คนที่แข็งแรงอยู่แล้วก็รับประทานได้ เพื่อช่วยเสริมสร้างความสดชื่นแจ่มใสกระปรี้กระเปร่า ทำกิจกรรมต่างๆ ได้ดีไม่เหนื่อยง่าย นอกจากนี้แล้วบุคคลที่มีสภาวะที่ต้องกดดันด้วยความเครียดต่างๆ ซึ่งเข้าข่ายที่เรียกว่า “คนอมโรค” ซึ่งมีลักษณะต่างๆ ดังต่อไปนี้ก็ควรหันมาสนใจสาหร่ายเกลียวทองได้แล้ว
              - เหนื่อยง่าย เป็นกังวลเกี่ยวกับสุขภาพ
              - เป็นหวัดง่าย
              - กินผักสีเขียวหรือผักสีเหลืองไม่เพียงพอ
              - วิงเวียนอยู่เสมอ
              - ชอบหรือไม่ชอบอาหารชนิดใดอย่างรุนแรงจนก่อให้เกิดอาการขาดสารอาหาร
              - รู้สึกเจ็บถึงกระดูกแม้เมื่อกดเนื้อเบาๆ
              - ไม่ทานอาหารเช้า
              - กำลังอดอาหารเพื่อ “ลดความอ้วน”
              - หญิงมีครรภ์ เป็นต้น
              สำหรับบุคคลที่ไม่เข้าข่ายคนอมโรคข้างต้นหรือบุคคลทั่วๆ ไปก็สามารถรับประทานได้โดยไม่มีอันตรายใดๆ

สาหร่ายเกลียวทองกับเบาหวาน, คอเลสเตอรอล
       โรคเบาหวาน เป็นโรคที่เกี่ยวกับระบบการสร้างและการสลายกลัยโคเจนผิดปกติ อันเนื่องมาจากการทำงานของฮอร์โมนอินซูลินไม่เพียงพอหรือขาดอินซูลิน และเป็นโรคที่ยังเกี่ยวกับการสร้างและสลายในส่วนของไขมันและโปรตีนด้วย อาการเด่นชัดของโรคเบาหวานคือมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงและมีน้ำตาลในปัสสาวะ จากการรักษาผู้ป่วยโรคเบาหวานซึ่งทำการทดลองรักษาโดย มหาวิทยาลัยแพทย์ศาสตร์และทันตแพทย์ศาสตร์แห่งชาติโตเกียว ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นผู้มีน้ำหนักตัวมากหรืออ้วน และมีระดับคอเลสเตอรอลในเลือดสูงด้วย การรักษาโดยการควบคุมดูแลการกินอาหารอย่างเข้มงวด พร้อมกับรับประทานสาหร่ายเกลียวทองเสริมเข้าไป ผลปรากฏว่าเมื่อให้สาหร่ายไปสักระยะหนึ่งแล้วเจาะเลือดดูผลที่ได้คือระดับน้ำตาลในเลือดลดลงเกือบอยู่ในระดับปกติ และคอเลสเตอรอลก็ลดลงเหมือนกันและยังทำให้น้ำหนักตัวลดลงอีกด้วย

โรคตับกับสาหร่ายเกลียวทอง
       โรคตับมีทั้งตับอักเสบ, ตับแข็ง, ตับอ่อนอักเสบและตับอ่อนเรื้อรัง โรคเหล่านี้เป็นโรคที่เป็นกันมากในประเทศญี่ปุ่นประชากรมากมายโดยเฉพาะเพศชายที่นิยมดื่มแอลกอฮอล์มักจะพบโรคที่เกี่ยวกับตับเสมอ อัตราการตายของโรคตับสูงเป็นอันดับ 9 ของประเทศญี่ปุ่น คนที่เป็นโรคนี้ตับจะเสื่อมสภาพทำงานไม่ได้ตามปกติจนตับพิการในที่สุด จากนั้นอาจจะมีชีวิตอยู่ได้ไม่นาน จากการทดลองรักษาโดยใช้สาหร่ายเกลียวทองควบคู่การใช้ยา ผลปรากฏว่า ตับจะมีประสิทธิภาพดีทำงานได้ปกติ โรคตับต่างๆ เหล่านี้การรักษาด้วยอาหารที่โปรตีนสูงและแคลอรีสูงจะได้ผลดี เนื่องจากโปรตีนเป็นสิ่งจำเป็นในการซ่อมแซมเนื้อเยื่อของตับ ซึ่งในสาหร่ายเกลียวทองก็มีโปรตีนอยู่มากแถมยังประกอบด้วยกรดอะมิโนจำเป็นอยู่ด้วย จึงสามารถช่วยบำบัดโรคตับได้เป็นอย่างดี

คลอโรฟิลล์กับโรคกระเพาะอักเสบ และโรคตา
       เป็นที่ทราบดีในการแพทย์ทั่วไปว่า ยาสำหรับโรคกระเพาะอาหารอักเสบหรือโรคแผลเปื่อยในกระเพาะอาหารนั้นต้องมีคลอโรฟิลล์ผสมอยู่ด้วย ทั้งนี้เพราะคลอโรฟิลล์เป็นสารที่ให้ผลทางการรักษาอาหารอักเสบของเยื่อบุในกระเพาะอาหารและโรคหลอดลมอักเสบและเนื่องจากสาหร่ายเกลียวทองมีองค์ประกอบส่วนใหญ่เป็นคลอโรฟิลล์ ดังนั้นจึงน่าจะช่วยรักษาได้ดี ซึ่งจากการทดลองให้ผู้ป่วยดังกล่าวกินสาหร่ายเกลียวทองตามสบายเพราะไม่ใช่ยา หลังจากนั้นหนึ่งเดือนอาการปวดท้องและอาการคลื่นไส้ก็หายไปเป็นปลิดทิ้ง
       นอกจากนี้ในสาหร่ายเกลียวทองยังมีเบต้า-แคโรทีน ซึ่จะถูกเปลี่ยนเป็นวิตามินเอในร่างกายได้ ซึ่งวิตามินเอเป็นสารที่ช่วยบำรุงสายตา ดังนั้นในผู้ป่วยที่เป็นโรคเกี่ยวกับตา  เช่น ตาฝ้าฟางมองเห็นไม่ชัดเจน ต้อกระจก หลังจากได้รับสาหร่ายเกลียวทองไปแล้วอาการต่างๆ ก็จะหมดไป ซึ่งก็เป็นผลจากสารที่อยู่ในสาหร่ายเกลียวทองนั่นเอง

บทบาทของแอล-ทริปโตแฟน กับการนอนหลับ
       ในสาหร่ายเกลียวทองจะมีสารที่ชื่อ แอล-ทริปโตแฟน ซึ่งเป็นกรดอะมิโนที่ร่างกายสร้างเองไม่ได้ต้องได้รับจากอาหาร ซึ่งสารตัวนี้มีบทบาทำหน้าที่เกี่ยวกับควบคุมการนอนหลับ-ตื่นของคนเรา เมื่อเราได้รับสารตัวนี้เข้าไปมันก็จะทำให้การนอนหลับ-การตื่นของเราเป็นไปตามปกติ เวลานอนก็นอนหลับสบาย ซึ่งการนอนไม่หลับก็นับว่าเป็นปัญหาของคนในยุคปัจจุบันมากดังนั้น สาหร่ายเกลียวทองจึงช่วยควบคุมวงจรการนอนหลับให้เป็นไปด้วยดี
       นอกจากนี้แล้วจากรายงานของคณะแพทย์สถาบันต่างๆ ในญี่ปุ่นเมื่อใช้สาหร่ายเกลียวทองเป็นอาหารเสริมควบคู่กับการรักษาไปด้วย ผลปรากฏว่าผู้ป่วยมีอาการดีขึ้นอย่างมาก บางโรคก็หายไปเลย นอกจากโรคต่างๆ ที่ได้กล่าวข้างต้นแล้วผู้ป่วยที่มีอาการดังต่อไปนี้ก็มีอาการดีขึ้นหรือหาย  เช่น
              - โลหิตจาง
              - ความดันโลหิตสูง
              - โรคอ้วน
              - ภาวการณ์ขาดสารอาหาร
              - ช่วยขับปัสสาวะ, ท้องผูก
              - โรคผิวหนัง
              - โรคภูมิแพ้
              - อาการไอ
       จะเห็นได้ว่าสาหร่ายเกลียวทองมีประโยชน์ต่อสุขภาพมากมาย ดังนั้นการรับประทานจึงมีผลดีต่อสุขภาพทั้งคนปกติและคนป่วย ซึ่งบางประเทศ  เช่น ในญี่ปุ่นเขาจะถือเอาสาหร่ายเกลียวทองเป็นอาหารประจำชาติเลยทีเดียว สำหรับในไทยมีภูมิประเทศเหมาะสมในการเลี้ยงสาหร่ายเกลียวทองเป็นอย่างมาก ดังนั้นถ้ามีการส่งเสริมให้มีการเลี้ยงสาหร่ายเกลียวทองก็จะทำให้มีแหล่งอาหารที่คุณภาพเพิ่มขึ้นสำหรับประชาชนคนไทยอีกด้วย
 

Monday, 20 February 2012

น้ำมันปลา (Fish Oil)


โภชนารักษาโรค
น้ำมันปลา (Fish Oil)


น้ำมันปลาคืออะไร
       คำว่า “น้ำมันปลา” ในที่นี้มิได้หมายถึง “น้ำมันตับปลา มีหลายท่านอาจเข้าใจสันสนกัน น้ำมันปลาเป็นอาหารเพื่อสุขภาพชนิดหนึ่ง ได้จากการสกัดน้ำมันจากเนื้อปลาส่วน หัว หนัง และหางของปลาทะเล โดยเฉพาะปลาที่อาศัยอยู่ในแถบแอตแลนติก  เช่น เมนเฮเอน แอนโชวี แฮริ่ง ปลาทูน่า ปลาแซลมอน  ส่วนน้ำมันตับปลา คนไทยรู้จักกันมานานแล้วใช้เป็นอาหารเสริม มีวิตามินที่สำคัญคือ วิตามินเอ และดี  น้ำมันตับปลาสกัดจากตับของปลาทะเลบางชนิด  เช่นปลาคอด (Cod)
       น้ำมันปลาจะอุดมไปด้วยกรดไขมันจำเป็น (Essential Fatty Acid) ซึ่งร่างกายของมนุษย์ไม่สามารถสังเคราะห์ขึ้นมาได้เอง กรดไขมันจำเป็นชนิดนี้เป็นกรดไขมันไม่อิ่มตัว มีชื่อเรียกว่า “โอเมก้า-3 (OMEGA-3)

องค์ประกอบที่สำคัญของน้ำมันปลา
      ดังได้กล่าวมาแล้วว่าในน้ำมันปลาประกอบด้วยกรดไขมันจำเป็นประเภทโอเมก้า 3 อยู่มากโดยในกลุ่มโอเมก้า-3 ยังแบ่งออกเป็น 2 ชนิด ที่สำคัญได้แก่
       1.กรดโดโคซาเฮกซาอีโนอิก (Docosahexaenoic Acid) หรือดีเอชเอ (DHA)
        2.กรดไอโคซาเพนตะอีโนอิก (Eicosapentaenoic Acid) หรืออีพีเอ (EPA)

กรดไขมัน และกรดไขมันชนิดโอเมก้า-3 คืออะไร
      ไขมันเป็นสารอาหารหลักที่จำเป็นสำหรับมนุษย์เรา โดยธรรมชาติจะพบทั้งในพืชและในสัตว์ จะให้พลังงาน 9 แคลอรีต่อไขมัน 1 กรัม สูงกว่าโปรตีนและคาร์โบไฮเดรท ซึ่งให้พลังงานเพียง 4 แคลอรีต่อสารอาหาร 1 กรัม และไขมันยังเป็นแหล่งวิตามิน A,D,E, แล K ซึ่งวิตามินเหล่านี้จะละลายในไขมัน  ไขมันในอาหาร 90% อยู่ในรูปไตรกลีเซอไรด์ (Triglyceride) ซึ่งมีองค์ประกอบของกลีเซอรอล (Glycerol) หนึ่งส่วนกับกรดไขมัน (Fatty Acid) 3 ส่วน 10% ที่เหลือคือฟอสโฟลิปิด (Phospholipid) โคเลสเตอรอล (Cholesterol) ทั้งในรูปของเอสเทอร์ (Ester) อนุมูลอิสระและวิตามิน  โดยกรดไขมันจะเป็นตัวกำหนดชนิดของไขมัน ว่าจะเป็นไขมันอิ่มตัวหรือไขมันไม่อิ่มตัว
       กรดไขมันที่มีโครงสร้างสายไฮโดรคาร์บอนเป็นพันธะเดี่ยวแต่เพียงอย่างเดียว เรียกว่า กรดไขมันชนิดอิ่มตัว (Saturated Fatty acid) ส่วนกรดไขมันที่มีพันธะคู่รวมอยู่ด้วยเรียกว่า กรดไขมันชนิดไม่อิ่มตัว (Unsaturated Fatty acid) โดยมีทั้งกรดไขมันไม่อิ่มตัว ชนิดเชิงเดี่ยว (Mono-Unsaturated Fatty acid) ซึ่งมีพันธะคู่เพียง 1 คู่ และกรดไขมันไม่อิ่มตัวชนิดเชิงซ้อน (Polyunsaturated Fatty acid) หรือ PUFA ซึ่งมีพันธะคู่มากกว่า 1 คู่
       กรดไขมันไม่อิ่มตัวเชิงซ้อน จะแบ่งตามลักษณะโครงสร้างได้ 2 แบบ คือ กรดไขมันโอเมก้า-6 (Omega-6) และกรดไขมันโอเมก้า-3 (Omega-3)
        กรดไขมันโอเมก้า-6 มีกรดที่สำคัญคือกรดลิโนเลอิก (Linoleic acid) และกรดอะราชิโดนิก (Arachidonic acid) ส่วนกรดไขมันโอเมก้า-3 ประกอบด้วยกรดแอลฟา-ลิโนเลนิก หรือเอแอลเอ (α-linolenic acid,ALA), กรดโดโคซาเฮกซาอีโนอิก หรือ DHA และกรดไอโคซาเพนตะอีโนอิก หรือ EPA ร่างกายไม่สามารถสังเคราะห์กรดไขมันโอเมก้า-3 และโอเมก้า-6 ได้ จึงต้องได้รับจากอาหารเท่านั้น
       การเรียกชื่อกรดไขมันโอเมก้า-3 หรือโอเมก้า-6 นั้นเป็นการเรียกตามตำแหน่งแรกของพันธะคู่ในโครงสร้างของกรดไขมัน  โดยให้ส่วนของหมู่คาร์บอกซิล (-COOH) อยู่ตำแหน่งสุดท้ายตามโครงสร้างทางเคมีของกรดไขมัน

ประโยชน์และความสำคัญของน้ำมันปลา
       จากผลการวิจัยทางวิทยาศาสตร์แสดงให้เห็นว่า กรกดไขมันจำเป็นชนิดโอเมก้า-3 สามารถช่วยป้องกันการเกิดโรคหัวใจจากการสะสมและอุดตันของคอเลสเตอรอลและไขมันตามหลอดเลือดได้โดยการเพิ่มปริมาณไลโปโปรตีนชนิด HDL ช่วยป้องกันความจำเสื่อมในผู้สูงอายุ ป้องกันโรคปวดข้อ และปวดแบบไม่เกรนได้ ดังนั้น จึงพบว่า ประชาชนชาวเอสกีโมถึงแม้จะบริโภคอาหารจำพวกไขมันสูง แต่ไขมันและน้ำมันดังกล่าวได้มากจากปลาทำให้ชาวเอสกีโมมีโอกาสหรือความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือดหัวใจตีบได้ต่ำมากเมื่อเทียบกับบุคคลทั่วไป

น้ำมันปลา ป้องกันโรคหัวใจขาดเลือด
      กรดไขมันโอเมก้า-3 ในน้ำมันปลามีความเกี่ยวข้องกับการสร้างและรักษาสมดุลของสารกลุ่มที่เรียกว่า อีโคซานอย (Ecosanoid) ซึ่งประกอบด้วย ลูโคไตรอีน (Leukotriene) โพรสตะแกลนดิน (Prostaglandin) และทรอมบอกเซน (Thromboxane) ซึ่งเป็นสารที่มีลักษณะคล้ายฮอร์โมนมีหน้าที่สำคัญทางชีววิทยา สารจำพวกอีโคซานอยที่สำคัญและมีการศึกษากันมาแล้วคือ โพรสะแกลนดินไอ-2 (PGI2) ทรอมบอกเซน เอ-2 (TXA2) และทรอมบอกเซนเอ-3 (TXA3) โดย PGI2 และ TXA2 สร้างขึ้นจากกรดอะราชิโดนิก ส่วน TXA3 สร้าจาก อีพีเอ ซึ่งสารเหล่านี้มีบทบาทโดยตรงต่อการควบคุมการเกิดหลอดเลือดอุดตัน เม็ดเลือดและเกล็ดเลือดในร่างกายเราจะแขวนลอยอยู่อย่างอิสระในน้ำเลือด เมื่อร่างกายได้รับบาดเจ็บเกิดเป็นแผลมีเลือดออก (Bleeding) เซลล์เกล็ดเลือดจะมารวมตัวกัน (Aggregation) ที่ปากแผลและถูกประสานให้แน่นหนาด้วยร่างแหที่เรียกว่า ไฟบริน (Fibrin) เกิดเป็นก้อนแข็งที่เรียกว่า คลอท (Clot) มาอุดปากแผลที่ฉีกขาดของหลอดเลือดเอาไว้ และการที่เกล็ดเลือดมารวมตัวกันได้นั้นต้องอาศัยสารอีโคซานอยชนิดทรอมบอกเซน เอ-2 (TXA2) ดังนั้นหากมีบาดแผลภายนอกร่างกายเกิดขึ้น การเกิดคลอทจะห้ามการสูญเสียเลือดจากบาดแผลและช่วยสมานให้บาดแผลติดสนิทและหายได้เร็วขึ้น แต่ถ้าเกิดมีบาดแผลภายในผนังหลอดเลือด เป็นผลทำให้มีการไหลของกระแสเลือดสะดุด ทำให้ไลโปโปรตีน LDL และคอเลสเตอรอลมาเกาะรวมกับก้อนคลอท ขวางทางเดินของกระแสเลือด และเพิ่มการอุดตันได้มากขึ้น เราสามารถแก้ไขได้โดย สารอีโคซานอยที่เรียกว่า โพรสตะแกลนดิน ไอ-2 และโพรสตะแกลนดิน ไอ-3 ที่สร้างจากอีพีเอและดีเอชเอ ซึ่งจะเข้ามามีบทบาทในการระงับไม่ให้เกล็ดเลือดรวมตัวกัน ลดความหนืดของเลือด ช่วยให้การไหลเวียนของเลือดสะดวกขึ้น ป้องกันไม่ให้เกิดภาวะความดันโลหิตสูง ป้องกันโรคที่เกิดจากหลอดเลือดอุดตัน โรคหัวใจขาดเลือดซึ่งจะทำให้กล้ามเนื้อหัวใจตาย และเกิดภาวะหัวใจล้มเหลวขึ้น หากเกิดการอุดตันของหลอดเลือดที่สมองทำให้สมองขาดเลือดไปเลี้ยงและส่งผลต่อระบบประสาทและอาจทำให้เป็นอัมพาตได้

น้ำมันปลาช่วยลดคอเลสเตอรอลและไตรกลีเซอไรด์
      น้ำมันปลาสามารถลดไขมันในเลือด โดยเกิดจากการที่ ดีเอชเอ และอีพีเอ ลดการสร้างคอเลสเตอรอลและไตรกลีเซอไรด์ โดยยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ในตับชื่อ เอซิลทรานซ์เฟอเรส (Acyltransferase) และฟอสฟาติเดทฟอสโฟไฟโดรเลส (Phosphatidate phosphopydrolase) ซึ่งเอนไซม์ทั้งสองจะเป็นตัวสร้างคอเลสเตอรอลขึ้นในตับ และน้ำมันปลายังช่วยเพิ่ม เอชดีแอล (HDL;High Density Lipoprotein) ซึ่งเอชดีแอลเป็นตัวพาให้คอเลสเตอรอลในเลือดและผนังหลอดเลือดกลับสู่ตับและเปลี่ยนเป็นน้ำดีเพื่อขับออกนอกร่างกาย

น้ำมันปลาช่วยลดการเกิดโรคเบาหวาน
      โรคเบาหวานมักพบควบคู่ไปกับโรคหัวใจและหลอดเลือด มีผลการวิจัยพบว่าน้ำมันปลาช่วยให้คนไข้เบาหวานประเภทไม่เกี่ยวข้องกับอินซูลินสามารถใช้อินซูลินได้ เบาหวานชนิดนี้มักเกิดในคนไข้ที่อ้วน อินซูลินของคนไข้กลุ่มนี้จะสูญเสียความสามารถในการควบคุมน้ำตาลในร่างกาย

น้ำมันปลาป้องกันการเกิดโรคข้ออักเสบและลูปัส
      อีพีเอในน้ำมันปลาสามารถลดการสร้างสารที่ก่อให้เกิดการอักเสบ จึงน่าจะมีประโยชน์ที่จะช่วยให้อาการของข้ออับเสบและลูปัสดีขึ้นได้ โดยการอับเสบเกิดจากสารลิดโคไตรอีน 4 (Leukotriene 4) ซึ่งเป็นอนุพันธ์ของกรดอะราชิโดนิก แต่ถ้าหากเป็นกรดไขมันชนิดโอเมก้า-3 หรือ อีพีเอ ซึ่งมีในน้ำมันปลาร่างกายจะไม่สร้างสารตัวนี้ขึ้นมา แต่จะสร้างลิวโคไตรอีน บี 5 แทน ซึ่งไม่มีผลร้ายต่อร่างกาย ไม่มีฤทธิ์ก่อให้เกิดการอักเสบ มีนักวิจัยพบว่าอีพีเอ ทำให้อาการเมื่อยล้าเกิดขึ้นได้ช้าลงด้วย

น้ำมันปลาช่วยลดการปวดศีรษะไม่เกรน
      กลุ่มนักวิจัยจากศูนย์การแพทย์แห่งมหาวิทยาลัยซินซินนาติ ได้ทำการศึกษาทดลองแล้วว่า อีพีเอในน้ำมันปลาสามารถลดอาการของไมเกรนโดยมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงการสังเคราะห์โพรสะแกลนดิน และลดการหลั่งซีโรโตนินของเกล็ดเลือด ทำให้การรวมกลุ่มของเกล็ดเลือดลดลงในระยะที่มีการบีบตัวของหลอดเลือดในสมอง ไม่ทำให้เกิดอาการปวดศีรษะขึ้น

ทารกและหญิงมีครรภ์ต้องการ DHA
      ผู้หญิงมีครรภ์และเด็กทารกมีความจำเป็นมากที่จะต้องได้รับ ดีเอชเอ เนื่องจากดีเอชเอจะช่วยในด้านการพัฒนาของสมองและการมองเห็นของทารกในครรภ์และระยะหลังคลอด กรดไขมันชนิดนี้เป็นองค์ประกอบที่สำคัญของเซลล์เรตินาของดวงตา มีความสัมพันธ์โดยตรงต่อการมองเห็น ดีเอชเอ ยังเป็นองค์ประกอบหลักของเซลล์สมองและจำเป็นต่อการเจริญและพัฒนาระบบประสาทส่วนกลางในระกว่างการตั้งครรภ์ ทารกในครรภ์จะได้รับ ดีเอชเอ จากมารดา และทารกหลังคลอดก็ได้รับดีเอชเอจากน้ำนมมารดา ดังนั้นทารกหลังหย่านมมารดามีความเสี่ยงต่อการขาดดีเอชเอ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ควรได้รับกรดไขมันนี้เพิ่มจากอาหารเสริมหรืออาหารอื่น

ร่างกายควรได้รับ EPA และ DHA เท่าไหร่จึงจะดี
      จากวารสารอาหารอาเซียน (Asean Food Journal 1993) ได้แนะนำให้รับประทานน้ำมันปลาอยู่ในเกณฑ์เฉลี่ย 1-5 กรัมต่อวัน จึงจะทำให้ผู้บริโภคได้รับกรดไขมันโอเมก้า-3 เพิ่มขึ้น
       องค์กรอาหารแห่งชาติ (National Food Agency) ของประเทศเดนมาร์กแนะนำให้ผู้ใหญ่ควรได้รับ อีพีเอ/ดีเอชเอ 350 มิลลิกรัมต่อวัน โดยแหล่งอาหารที่จะได้รับกรดไขมันไม่อิ่มตัวเชิงซ้อนชนิด โอเมก้า-3 สูงได้แก่ ปลาทะเลที่มีน้ำมันมาก  เช่น ปลาซาร์ดีน ปลาเฮอร์ริง ปลาแมกเคอเรล ปลากแซลมอน และปลาทูน่า ซึ่งมีกรดไขมันโอเมก้า-3 1-2 กรัม ต่อเนื้อปลา 100 กรัม สำหรับปลาทะเลที่พบในประเทศไทยที่มีกรดไขมันโอเมก้า-3 มากได้แก่ ปลาทู ซึ่งมีประมาณ 2-3 กรัม ต่อเนื้อปลา 100 กรัม และนักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าปลาน้ำจืดมีกรดไขมันโอเมก้า-3 น้อยกว่าปลาทะเล





       เราควรจะรับประทานปลามากเท่าใด และบ่อยแค่ไหน เพื่อให้มีสุขภาพดี ยังไม่มีตัวเลขทางการแพทย์ที่จะบ่งชี้หรือกำหนดขึ้นได้ แต่มีผู้วิจัยแนะนำว่าควรรับประทานให้ได้ ดีเอชเอ 0.5-1.0 กรัมต่อวัน ต้องรับประทานปลาซาร์ดีน 100 กรัมต่อวัน หรือเทียบเท่ากับปลาซาร์ดีนขนาด 80 กรัม 2 ตัวหรือรับประทานปลาทะเลอื่นที่ให้ปริมาณ ดีเอชเอ ใกล้เคียงกัน และนักวิจัยแนะนำว่าควรรับประทานปลาและอาหารทะเลอย่างน้อย 3 ครั้งต่อสัปดาห์หรือถ้าจะให้ดีควรรับประทานให้ได้ 5 ครั้งต่อสัปดาห์แต่สำหรับบางท่านอาจมีปัญหาแพ้อาหารทะเลหรือไม่ชอบรับประทานปลาไม่สามารถปฏิบัติตามคำแนะนำดังกล่าวได้ก็สามารถรับประทานในรูปของอาหารเสริมซึ่งปัจจุบันได้มีมีการสกัดน้ำมันปลาบรรจุในแคปซูลให้ผู้ที่ต้องการน้ำมันปลาเป็นอาหารเสริมได้เลือกรับประทาน