Thursday, 8 March 2012

กระดูกอ่อนปลาฉลาม (Shark cartilage)


โภชนารักษาโรค
กระดูกอ่อนปลาฉลาม (Shark Cartilage)



      กระดูกอ่อนปลาฉลาม คือ โครงกระดูกของปลาฉลามทั้งตัวที่ถูกจับขึ้นมาและนำมาบดละเอียด อุดมไปด้วย ธาตุแคลเซียม, ฟอสฟอรัส, สารกลัยโคซามิโนกลัยแคน (Glycosaminoglycans) และสารมูโพลีแซคคาไรด์ (Mucopolysaccharide)
       จากการศึกษาค้นกว้าคุณสมบัติที่พิเศษของปลาฉลามโดยนักวิจัยและได้มีการเผยแพร่ไปทั่วโลกได้พบความมหัศจรรย์ของปลาฉลามที่ช่วยในการรักษาโรคโดยเฉพาะโรคมะเร็งซึ่งได้รับความสนใจมาก มีนักวิทยาศาสตร์ได้ศึกษาเกี่ยวกับการดำเนินชีวิตของปลาฉลาม พบว่าปลาฉลามมีระบบภูมิคุ้มกันพิเศษสามารถต้านทานโรคภัยไข้เจ็บได้สูง โดยเฉพาะโรคมะเร็งถึงแม้จะอยู่ในสภาพน้ำที่สกปรกก็ตามอาจกล่าวได้ว่า ปลาฉลามเป็นสัตว์ที่ไม่เป็นโรคมะเร็ง การที่ปลาฉลามมีคุณสมบัติพิเศษกว่าสัตว์ชนิดอื่นเนื่องจากปลาฉลามมีสารกลัยโคซามิโนกลัยแคน (Glycosaminoglycans) และสารมูโคโพลีแซคคาไรด์ (Mucopolysaccharide) ซึ่งพบในกระดูกของปลาฉลามแตกต่างจากกระดูกสันหลังสัตว์อื่นๆ ช่วยให้ปลาฉลามมีความแข็งแรงและต้านทานโรคสูง

สารอาหารที่สำคัญในกระดูกอ่อนปลาฉลาม
       ในกระดูกอ่อนปลาฉลามนอกจากจะมีธาตุแคลเซียมและฟอสฟอรัสที่ช่วยในการสร้างกระดูกและฟันเหมือนกระดูกปลาทั่วไปแล้วยังมีสารที่ทำให้เกิดความมหัศจรรย์อื่นอีก คือ สารมูโคโพลีแซคคาไรด์ และโปรตีน ซึ่งเป็นตัวสร้างภูมิคุ้มกันต้านทานโรค ลดการอักเสบ ยับยั้งการเกิดโครงข่ายเส้นเลือดฝอยที่ถูกสร้างขึ้นมาใหม่รอบๆ บริเวณที่มีเนื้องอกหรือเนื้อเยื่ออักเสบ เป็นการควบคุมการขยายตัวของโรคเนื้องอกหรือโรคมะเร็ง

ระบบภูมิคุ้มกันของปลาฉลาม
       ปลาฉลามมีระบบภูมิคุ้มกันแบบดั้งเดิม คือ มีสารแอนตี้บอดี้หลายล้านชนิดและทำงานเฉพาะเมื่อถูกกระตุ้นจากสิ่งแปลกปลอมที่เข้าสู่ร่างกายเท่านั้น การที่ปลาฉลามมีสารแอนตี้บอดี้เป็นจำนวนมาก ไหลเวียนอยู่ในกระแสเลือดสิ่งแปลกปลอมจึงไม่สามารถเข้าสู่ร่างกายได้ จอห์น ฟอร์เรส นักวิจัยแห่งศูนย์ทดลองชีวภาพเกาะเม้าน์ทเดสเซอร์ท ในรัฐเมน สหรัฐอเมริกาได้ทดลองผ่าปลาฉลามแล้วเย็บแผล หลังจากนั้นนำไปใส่ไว้ในน้ำสกปรกปรากฏว่าปลาฉลามไม่ติดเชื้อใดๆ เลย

กระดูกอ่อนปลาฉลามรักษาโรคมะเร็งได้อย่างไร
       จากการศึกษาเรื่องโรคมะเร็งโดย ดร.โฟล์คแมน แห่งโรงพยาบาลเด็กและคณะแพทย์ศาสตร์มหาวิทยาลัยฮาร์เวิร์ดในเมืองบอสตัน พบว่าเนื้องอกไม่สามารถเจริญเติบโตได้ หากปราศจากการสร้างระบบโครงข่ายเส้นเลือดรอบๆ เนื้องอก หากสามารถยับยั้งหรือทำลายการเจริญเติบโตของโครงข่ายเส้นเลือดได้ ก็สามารถยับยั้งการเจริญเติบโตของเนื้องอกได้
       ต่อมานักวิจัยอีกหลายท่านก็สรุปเช่นเดียวกันนี้และได้มีการทดลองใช้กระดูกอ่อนปลาฉลามซึ่งเป็นเนื้อเยื่อที่ไม่มีเส้นเลือดไปปลูกในลูกไก่ที่ยังเป็นตัวอ่อน เส้นเลือดจะแทรกซึมเข้าไปในเนื้อเยื่อทุกส่วนยกเว้นกระดูกอ่อนปลาฉลามที่ปลูกไว้และยังพบว่ากระดูกอ่อนปลาฉลามสามารถทำให้เนื้องอกในหนูทดลองมีขนาดเล็กลงหลังจากกินกระดูกอ่อนปลาฉลาม 21 วัน นักวิจัยตั้งสมมุติฐานว่ากระดูกอ่อนปลาฉลามสามารถยับยั้งการสร้างโครงข่ายเส้นเลือดของเนื้องอกและป้องกันการเจริญเติบโตของเส้นเลือดใหม่ๆ ได้
       ดร.เออร์เนสโต้ คอนเทรราส จูเนียร์ ทดลองนำกระดูกอ่อนปลาฉลามไปรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งระยะสุดท้ายจำนวน 8 ราย เป็นระยะเวลา 2 เดือน ผลปรากฏว่าผู้ป่วย 7 ราย ใน 8 ราย มีขนาดเนื้องอกลดลง 30-100%
       ดร.วิลเลี่ยม เลนส์ ได้ทดลองนำกระดูกอ่อนปลาฉลามรักษาโรคมะเร็งพบว่ากระดูกอ่อนปลาฉลามมีประสิทธิภาพในการยับยั้งการสร้างเส้นเลือดฝอยของเซลล์มะเร็งทำให้เซลล์มะเร็งขาดอาหารมาหล่อเลี้ยง ผลคือเซลล์มะเร็งไม่เจริญเติบโตและตายในที่สุด โดยที่ไม่มีผลต่อเซลล์ปกติ

กระดูกอ่อนปลาฉลามช่วยรักษาโรคข้ออักเสบ
       โรคกระดูกข้ออักเสบเรื้อรัง (Osteoarthritis) เกิดจากกระดูกอ่อนในข้อต่อเสื่อม กระดูกอ่อนจะร้าวและฉีกขาดเนื่องจากแรงกดดัน จึงทำให้เกิดอาการบาดเจ็บ ร่างกายจะมีปฏิกิริยาตอบสนองในรูปของอาการอักเสบและกระตุ้นให้เกิดการสร้างเส้นเลือดใหม่ กระดูกอ่อนของคนเราเป็นเนื้อเยื่อที่ไม่มีเส้นเลือดเหมือนกระดูกอ่อนปลาฉลาม แต่เมื่อร่างกายเกิดการบาดเจ็บก็จะสร้างเส้นเลือดผ่านเนื้อเยื่อดังกล่าวไปช่วยในการรักษา แต่จะทำให้เกลือแคลเซียมไปเกาะที่กระดูกอ่อนและเกิดการแข็งตัวและแตกหักในที่สุด การใช้กระดูกอ่อนปลาฉลามอาจช่วยป้องกันกระบวนการดังกล่าวได้
       นักวิจัยได้ทำการทดลองนำสารสกัดจากกระดูกอ่อนปลาฉลามไปฉีดให้ผู้ป่วยโรคข้ออักเสบซึ่งพิการและมีอาการรุนแรง ปรากฏว่าผู้ป่วยส่วนใหญ่มีอาการดีขึ้น ดร.ไฮเซ่ เอ ออร์คาซิต้า แห่งคณะแพทย์ศาสตร์มหาวิทยาลัยไมอามี่ได้ให้ผู้ป่วยที่เป็นโรคข้อกระดูกอักเสบเรื้อรัง และมีอาการปวดอย่างรุนแรงรับประทานกระดูกอ่อนปลาฉลามแห้ง ผลปรากฏว่าผู้ป่วยทุกรายมีอาการดีขึ้น

กระดูกอ่อนปลาฉลามช่วยรักษาโรคที่ต้องพึ่งกระบวนการสร้างเส้นเลือดใหม่เลี้ยง
       นักวิจัยเชื่อว่ากระดูกอ่อนปลาฉลามอาจสามารถป้องกันโรคตาเสื่อมในผู้ป่วยเบาหวานและโรค Neovascular Glaucoma ซึ่งจะเกิดการแตกของเส้นเลือดฝอยในเรตินาและมีเลือดออก หลังจากนั้นเกิดการสร้างเส้นเลือดใหม่ทำให้การมองเห็นไม่ชัดและในที่สุดทำให้ตาบอด กระดูกอ่อนปลาฉลามยังสามารถใช้ได้กับผู้ที่ผ่าตัดต้อกระจกได้ด้วย นอกจากนี้ยังใช้รักษาโรคผิวหนังโซเรียซิส ซึ่งเป็นโรคที่ทำให้ผิวหนังหยาบกระด้างแล้วหลุดออก อาจเกิดการสร้างเส้นเลือดฝอยใต้ผิวหนัง กระดูกอ่อนปลาฉลามยังสามารถช่วยให้แผลหายเร็วขึ้นด้วย

บุคคลที่ไม่ควรรับประทานกระดูกอ่อนปลาฉลาม
       เนื่องจากกระดูกอ่อนปลาฉลามมีคุณสมบัติยับยั้งการเจริญเติบโตของเส้นเลือดใหม่ ดังนั้น เด็ก หญิงมีครรภ์ หญิงที่อยากจะมีครรภ์และผู้ที่ได้รับการผ่าตัดไม่ควรรับประทานกระดูกอ่อนปลาฉลาม

No comments:

Post a Comment