Monday 20 February 2012

น้ำมันปลา (Fish Oil)


โภชนารักษาโรค
น้ำมันปลา (Fish Oil)


น้ำมันปลาคืออะไร
       คำว่า “น้ำมันปลา” ในที่นี้มิได้หมายถึง “น้ำมันตับปลา มีหลายท่านอาจเข้าใจสันสนกัน น้ำมันปลาเป็นอาหารเพื่อสุขภาพชนิดหนึ่ง ได้จากการสกัดน้ำมันจากเนื้อปลาส่วน หัว หนัง และหางของปลาทะเล โดยเฉพาะปลาที่อาศัยอยู่ในแถบแอตแลนติก  เช่น เมนเฮเอน แอนโชวี แฮริ่ง ปลาทูน่า ปลาแซลมอน  ส่วนน้ำมันตับปลา คนไทยรู้จักกันมานานแล้วใช้เป็นอาหารเสริม มีวิตามินที่สำคัญคือ วิตามินเอ และดี  น้ำมันตับปลาสกัดจากตับของปลาทะเลบางชนิด  เช่นปลาคอด (Cod)
       น้ำมันปลาจะอุดมไปด้วยกรดไขมันจำเป็น (Essential Fatty Acid) ซึ่งร่างกายของมนุษย์ไม่สามารถสังเคราะห์ขึ้นมาได้เอง กรดไขมันจำเป็นชนิดนี้เป็นกรดไขมันไม่อิ่มตัว มีชื่อเรียกว่า “โอเมก้า-3 (OMEGA-3)

องค์ประกอบที่สำคัญของน้ำมันปลา
      ดังได้กล่าวมาแล้วว่าในน้ำมันปลาประกอบด้วยกรดไขมันจำเป็นประเภทโอเมก้า 3 อยู่มากโดยในกลุ่มโอเมก้า-3 ยังแบ่งออกเป็น 2 ชนิด ที่สำคัญได้แก่
       1.กรดโดโคซาเฮกซาอีโนอิก (Docosahexaenoic Acid) หรือดีเอชเอ (DHA)
        2.กรดไอโคซาเพนตะอีโนอิก (Eicosapentaenoic Acid) หรืออีพีเอ (EPA)

กรดไขมัน และกรดไขมันชนิดโอเมก้า-3 คืออะไร
      ไขมันเป็นสารอาหารหลักที่จำเป็นสำหรับมนุษย์เรา โดยธรรมชาติจะพบทั้งในพืชและในสัตว์ จะให้พลังงาน 9 แคลอรีต่อไขมัน 1 กรัม สูงกว่าโปรตีนและคาร์โบไฮเดรท ซึ่งให้พลังงานเพียง 4 แคลอรีต่อสารอาหาร 1 กรัม และไขมันยังเป็นแหล่งวิตามิน A,D,E, แล K ซึ่งวิตามินเหล่านี้จะละลายในไขมัน  ไขมันในอาหาร 90% อยู่ในรูปไตรกลีเซอไรด์ (Triglyceride) ซึ่งมีองค์ประกอบของกลีเซอรอล (Glycerol) หนึ่งส่วนกับกรดไขมัน (Fatty Acid) 3 ส่วน 10% ที่เหลือคือฟอสโฟลิปิด (Phospholipid) โคเลสเตอรอล (Cholesterol) ทั้งในรูปของเอสเทอร์ (Ester) อนุมูลอิสระและวิตามิน  โดยกรดไขมันจะเป็นตัวกำหนดชนิดของไขมัน ว่าจะเป็นไขมันอิ่มตัวหรือไขมันไม่อิ่มตัว
       กรดไขมันที่มีโครงสร้างสายไฮโดรคาร์บอนเป็นพันธะเดี่ยวแต่เพียงอย่างเดียว เรียกว่า กรดไขมันชนิดอิ่มตัว (Saturated Fatty acid) ส่วนกรดไขมันที่มีพันธะคู่รวมอยู่ด้วยเรียกว่า กรดไขมันชนิดไม่อิ่มตัว (Unsaturated Fatty acid) โดยมีทั้งกรดไขมันไม่อิ่มตัว ชนิดเชิงเดี่ยว (Mono-Unsaturated Fatty acid) ซึ่งมีพันธะคู่เพียง 1 คู่ และกรดไขมันไม่อิ่มตัวชนิดเชิงซ้อน (Polyunsaturated Fatty acid) หรือ PUFA ซึ่งมีพันธะคู่มากกว่า 1 คู่
       กรดไขมันไม่อิ่มตัวเชิงซ้อน จะแบ่งตามลักษณะโครงสร้างได้ 2 แบบ คือ กรดไขมันโอเมก้า-6 (Omega-6) และกรดไขมันโอเมก้า-3 (Omega-3)
        กรดไขมันโอเมก้า-6 มีกรดที่สำคัญคือกรดลิโนเลอิก (Linoleic acid) และกรดอะราชิโดนิก (Arachidonic acid) ส่วนกรดไขมันโอเมก้า-3 ประกอบด้วยกรดแอลฟา-ลิโนเลนิก หรือเอแอลเอ (α-linolenic acid,ALA), กรดโดโคซาเฮกซาอีโนอิก หรือ DHA และกรดไอโคซาเพนตะอีโนอิก หรือ EPA ร่างกายไม่สามารถสังเคราะห์กรดไขมันโอเมก้า-3 และโอเมก้า-6 ได้ จึงต้องได้รับจากอาหารเท่านั้น
       การเรียกชื่อกรดไขมันโอเมก้า-3 หรือโอเมก้า-6 นั้นเป็นการเรียกตามตำแหน่งแรกของพันธะคู่ในโครงสร้างของกรดไขมัน  โดยให้ส่วนของหมู่คาร์บอกซิล (-COOH) อยู่ตำแหน่งสุดท้ายตามโครงสร้างทางเคมีของกรดไขมัน

ประโยชน์และความสำคัญของน้ำมันปลา
       จากผลการวิจัยทางวิทยาศาสตร์แสดงให้เห็นว่า กรกดไขมันจำเป็นชนิดโอเมก้า-3 สามารถช่วยป้องกันการเกิดโรคหัวใจจากการสะสมและอุดตันของคอเลสเตอรอลและไขมันตามหลอดเลือดได้โดยการเพิ่มปริมาณไลโปโปรตีนชนิด HDL ช่วยป้องกันความจำเสื่อมในผู้สูงอายุ ป้องกันโรคปวดข้อ และปวดแบบไม่เกรนได้ ดังนั้น จึงพบว่า ประชาชนชาวเอสกีโมถึงแม้จะบริโภคอาหารจำพวกไขมันสูง แต่ไขมันและน้ำมันดังกล่าวได้มากจากปลาทำให้ชาวเอสกีโมมีโอกาสหรือความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือดหัวใจตีบได้ต่ำมากเมื่อเทียบกับบุคคลทั่วไป

น้ำมันปลา ป้องกันโรคหัวใจขาดเลือด
      กรดไขมันโอเมก้า-3 ในน้ำมันปลามีความเกี่ยวข้องกับการสร้างและรักษาสมดุลของสารกลุ่มที่เรียกว่า อีโคซานอย (Ecosanoid) ซึ่งประกอบด้วย ลูโคไตรอีน (Leukotriene) โพรสตะแกลนดิน (Prostaglandin) และทรอมบอกเซน (Thromboxane) ซึ่งเป็นสารที่มีลักษณะคล้ายฮอร์โมนมีหน้าที่สำคัญทางชีววิทยา สารจำพวกอีโคซานอยที่สำคัญและมีการศึกษากันมาแล้วคือ โพรสะแกลนดินไอ-2 (PGI2) ทรอมบอกเซน เอ-2 (TXA2) และทรอมบอกเซนเอ-3 (TXA3) โดย PGI2 และ TXA2 สร้างขึ้นจากกรดอะราชิโดนิก ส่วน TXA3 สร้าจาก อีพีเอ ซึ่งสารเหล่านี้มีบทบาทโดยตรงต่อการควบคุมการเกิดหลอดเลือดอุดตัน เม็ดเลือดและเกล็ดเลือดในร่างกายเราจะแขวนลอยอยู่อย่างอิสระในน้ำเลือด เมื่อร่างกายได้รับบาดเจ็บเกิดเป็นแผลมีเลือดออก (Bleeding) เซลล์เกล็ดเลือดจะมารวมตัวกัน (Aggregation) ที่ปากแผลและถูกประสานให้แน่นหนาด้วยร่างแหที่เรียกว่า ไฟบริน (Fibrin) เกิดเป็นก้อนแข็งที่เรียกว่า คลอท (Clot) มาอุดปากแผลที่ฉีกขาดของหลอดเลือดเอาไว้ และการที่เกล็ดเลือดมารวมตัวกันได้นั้นต้องอาศัยสารอีโคซานอยชนิดทรอมบอกเซน เอ-2 (TXA2) ดังนั้นหากมีบาดแผลภายนอกร่างกายเกิดขึ้น การเกิดคลอทจะห้ามการสูญเสียเลือดจากบาดแผลและช่วยสมานให้บาดแผลติดสนิทและหายได้เร็วขึ้น แต่ถ้าเกิดมีบาดแผลภายในผนังหลอดเลือด เป็นผลทำให้มีการไหลของกระแสเลือดสะดุด ทำให้ไลโปโปรตีน LDL และคอเลสเตอรอลมาเกาะรวมกับก้อนคลอท ขวางทางเดินของกระแสเลือด และเพิ่มการอุดตันได้มากขึ้น เราสามารถแก้ไขได้โดย สารอีโคซานอยที่เรียกว่า โพรสตะแกลนดิน ไอ-2 และโพรสตะแกลนดิน ไอ-3 ที่สร้างจากอีพีเอและดีเอชเอ ซึ่งจะเข้ามามีบทบาทในการระงับไม่ให้เกล็ดเลือดรวมตัวกัน ลดความหนืดของเลือด ช่วยให้การไหลเวียนของเลือดสะดวกขึ้น ป้องกันไม่ให้เกิดภาวะความดันโลหิตสูง ป้องกันโรคที่เกิดจากหลอดเลือดอุดตัน โรคหัวใจขาดเลือดซึ่งจะทำให้กล้ามเนื้อหัวใจตาย และเกิดภาวะหัวใจล้มเหลวขึ้น หากเกิดการอุดตันของหลอดเลือดที่สมองทำให้สมองขาดเลือดไปเลี้ยงและส่งผลต่อระบบประสาทและอาจทำให้เป็นอัมพาตได้

น้ำมันปลาช่วยลดคอเลสเตอรอลและไตรกลีเซอไรด์
      น้ำมันปลาสามารถลดไขมันในเลือด โดยเกิดจากการที่ ดีเอชเอ และอีพีเอ ลดการสร้างคอเลสเตอรอลและไตรกลีเซอไรด์ โดยยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ในตับชื่อ เอซิลทรานซ์เฟอเรส (Acyltransferase) และฟอสฟาติเดทฟอสโฟไฟโดรเลส (Phosphatidate phosphopydrolase) ซึ่งเอนไซม์ทั้งสองจะเป็นตัวสร้างคอเลสเตอรอลขึ้นในตับ และน้ำมันปลายังช่วยเพิ่ม เอชดีแอล (HDL;High Density Lipoprotein) ซึ่งเอชดีแอลเป็นตัวพาให้คอเลสเตอรอลในเลือดและผนังหลอดเลือดกลับสู่ตับและเปลี่ยนเป็นน้ำดีเพื่อขับออกนอกร่างกาย

น้ำมันปลาช่วยลดการเกิดโรคเบาหวาน
      โรคเบาหวานมักพบควบคู่ไปกับโรคหัวใจและหลอดเลือด มีผลการวิจัยพบว่าน้ำมันปลาช่วยให้คนไข้เบาหวานประเภทไม่เกี่ยวข้องกับอินซูลินสามารถใช้อินซูลินได้ เบาหวานชนิดนี้มักเกิดในคนไข้ที่อ้วน อินซูลินของคนไข้กลุ่มนี้จะสูญเสียความสามารถในการควบคุมน้ำตาลในร่างกาย

น้ำมันปลาป้องกันการเกิดโรคข้ออักเสบและลูปัส
      อีพีเอในน้ำมันปลาสามารถลดการสร้างสารที่ก่อให้เกิดการอักเสบ จึงน่าจะมีประโยชน์ที่จะช่วยให้อาการของข้ออับเสบและลูปัสดีขึ้นได้ โดยการอับเสบเกิดจากสารลิดโคไตรอีน 4 (Leukotriene 4) ซึ่งเป็นอนุพันธ์ของกรดอะราชิโดนิก แต่ถ้าหากเป็นกรดไขมันชนิดโอเมก้า-3 หรือ อีพีเอ ซึ่งมีในน้ำมันปลาร่างกายจะไม่สร้างสารตัวนี้ขึ้นมา แต่จะสร้างลิวโคไตรอีน บี 5 แทน ซึ่งไม่มีผลร้ายต่อร่างกาย ไม่มีฤทธิ์ก่อให้เกิดการอักเสบ มีนักวิจัยพบว่าอีพีเอ ทำให้อาการเมื่อยล้าเกิดขึ้นได้ช้าลงด้วย

น้ำมันปลาช่วยลดการปวดศีรษะไม่เกรน
      กลุ่มนักวิจัยจากศูนย์การแพทย์แห่งมหาวิทยาลัยซินซินนาติ ได้ทำการศึกษาทดลองแล้วว่า อีพีเอในน้ำมันปลาสามารถลดอาการของไมเกรนโดยมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงการสังเคราะห์โพรสะแกลนดิน และลดการหลั่งซีโรโตนินของเกล็ดเลือด ทำให้การรวมกลุ่มของเกล็ดเลือดลดลงในระยะที่มีการบีบตัวของหลอดเลือดในสมอง ไม่ทำให้เกิดอาการปวดศีรษะขึ้น

ทารกและหญิงมีครรภ์ต้องการ DHA
      ผู้หญิงมีครรภ์และเด็กทารกมีความจำเป็นมากที่จะต้องได้รับ ดีเอชเอ เนื่องจากดีเอชเอจะช่วยในด้านการพัฒนาของสมองและการมองเห็นของทารกในครรภ์และระยะหลังคลอด กรดไขมันชนิดนี้เป็นองค์ประกอบที่สำคัญของเซลล์เรตินาของดวงตา มีความสัมพันธ์โดยตรงต่อการมองเห็น ดีเอชเอ ยังเป็นองค์ประกอบหลักของเซลล์สมองและจำเป็นต่อการเจริญและพัฒนาระบบประสาทส่วนกลางในระกว่างการตั้งครรภ์ ทารกในครรภ์จะได้รับ ดีเอชเอ จากมารดา และทารกหลังคลอดก็ได้รับดีเอชเอจากน้ำนมมารดา ดังนั้นทารกหลังหย่านมมารดามีความเสี่ยงต่อการขาดดีเอชเอ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ควรได้รับกรดไขมันนี้เพิ่มจากอาหารเสริมหรืออาหารอื่น

ร่างกายควรได้รับ EPA และ DHA เท่าไหร่จึงจะดี
      จากวารสารอาหารอาเซียน (Asean Food Journal 1993) ได้แนะนำให้รับประทานน้ำมันปลาอยู่ในเกณฑ์เฉลี่ย 1-5 กรัมต่อวัน จึงจะทำให้ผู้บริโภคได้รับกรดไขมันโอเมก้า-3 เพิ่มขึ้น
       องค์กรอาหารแห่งชาติ (National Food Agency) ของประเทศเดนมาร์กแนะนำให้ผู้ใหญ่ควรได้รับ อีพีเอ/ดีเอชเอ 350 มิลลิกรัมต่อวัน โดยแหล่งอาหารที่จะได้รับกรดไขมันไม่อิ่มตัวเชิงซ้อนชนิด โอเมก้า-3 สูงได้แก่ ปลาทะเลที่มีน้ำมันมาก  เช่น ปลาซาร์ดีน ปลาเฮอร์ริง ปลาแมกเคอเรล ปลากแซลมอน และปลาทูน่า ซึ่งมีกรดไขมันโอเมก้า-3 1-2 กรัม ต่อเนื้อปลา 100 กรัม สำหรับปลาทะเลที่พบในประเทศไทยที่มีกรดไขมันโอเมก้า-3 มากได้แก่ ปลาทู ซึ่งมีประมาณ 2-3 กรัม ต่อเนื้อปลา 100 กรัม และนักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าปลาน้ำจืดมีกรดไขมันโอเมก้า-3 น้อยกว่าปลาทะเล





       เราควรจะรับประทานปลามากเท่าใด และบ่อยแค่ไหน เพื่อให้มีสุขภาพดี ยังไม่มีตัวเลขทางการแพทย์ที่จะบ่งชี้หรือกำหนดขึ้นได้ แต่มีผู้วิจัยแนะนำว่าควรรับประทานให้ได้ ดีเอชเอ 0.5-1.0 กรัมต่อวัน ต้องรับประทานปลาซาร์ดีน 100 กรัมต่อวัน หรือเทียบเท่ากับปลาซาร์ดีนขนาด 80 กรัม 2 ตัวหรือรับประทานปลาทะเลอื่นที่ให้ปริมาณ ดีเอชเอ ใกล้เคียงกัน และนักวิจัยแนะนำว่าควรรับประทานปลาและอาหารทะเลอย่างน้อย 3 ครั้งต่อสัปดาห์หรือถ้าจะให้ดีควรรับประทานให้ได้ 5 ครั้งต่อสัปดาห์แต่สำหรับบางท่านอาจมีปัญหาแพ้อาหารทะเลหรือไม่ชอบรับประทานปลาไม่สามารถปฏิบัติตามคำแนะนำดังกล่าวได้ก็สามารถรับประทานในรูปของอาหารเสริมซึ่งปัจจุบันได้มีมีการสกัดน้ำมันปลาบรรจุในแคปซูลให้ผู้ที่ต้องการน้ำมันปลาเป็นอาหารเสริมได้เลือกรับประทาน

No comments:

Post a Comment