Saturday 28 April 2012

ดอกคำฝอย (Safflower)

โภชนารักษาโรค
ดอกคำฝอย (Safflower)
 
 
 
ดอกคำฝอย เป็นพืชพื้นเมืองของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแถบหุบเขาไนล์เป็นเวลาหลายศตวรรษมาแล้ว ต้นคำฝอยเป็นไม้มีหนามจำพวกผักโขม สูง 1 ครึ่ง-4 ฟุต ให้ดอกเหลืองอ่อนจนถึงสีส้มแก่ มีลักษณะเป็นอฝอยของกลีบดอกเป็นจำนวนมาก สำหรับในประเทศไทยรู้จักต้นดอกคำฝอยมานานมากจนมีคำพื้นเมืองที่เรียกกันทั่วไป  เช่น คำยุ่ง คำยอง คำฝอย ดอกคำ ชื่อในภาษาอังกฤษว่า Safflower หรือ American Saffron และมีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Cartamus tinctorius Linn อยู่ในวงศ์ Compositae

ความสำคัญของดอกคำฝอย
       จากการค้นคว้าและวิจัยด้านอาหารของอเมริกา เพื่อแก้ปัญหาอาหารไม่มีพอเลี้ยงประชากรโลกที่เพิ่มขึ้นทุกวันทำให้มนุษย์เป็นโรคขาดสารอาหารกันมากขึ้นนั้น ได้พบว่าในเมล็ดของดอกคำฝอยอุดมไปด้วยน้ำมันและโปรตีน ดอกคำฝอยมีกรดอะมิโนที่จำเป็นต่อร่างกาย ในน้ำมันก็มีประมาณ 30-40% และในเมล็ดดอกคำฝอยที่สกัดน้ำมันออกแล้วนั้นมีโปรตีนเฉลี่ยประมาณ 20% ซึ่งน่าจะเป็นแหล่งอาหารที่สำคัญอีกทางหนึ่งด้วย

น้ำมันเมล็ดดอกคำฝอยมีปริมาณองค์ประกอบกรดไขมัน ดังนี้
     กรดปาล์มมิติค (Palmitic acid)           ร้อยละ 6.60
       กรดสเทียริค (Stearic acid)                 ร้อยละ 2.32
       กรดโอเลอิค (Oleic acid)                    ร้อยละ 12.97
       กรดไลโนเลอิก (Linoleic acid)           ร้อยละ 78.10
       จากการวิเคราะห์ดังกล่าวสรุปได้ว่า น้ำมันเมล็ดคำฝอยมีปริมาณกรดไขมันไม่อิ่มตัวชนิด Polyunsaturated ในรูปของกรดไลโนเลอิก และกรดไขมันไม่อิ่มตัวชนิด Monounsaturated ในรูปของ กรดโอเลอิค รวมกันประมาณ 91% ซึ่งเป็นกรดไขมันที่จำเป็นต่อร่างกาย ส่วนที่เหลือจะเป็นกรดไขมันอิ่มตัว (Saturated fat) ประมาณ 9% ส่วนกรดอะมิโนอื่นในดอกคำฝอย ได้แก่ ฮีสติดิน อาร์จินิน, ไกลซิน, แอสพาร์ติค, แอซิด, กลูตามิค แอซิด, ซิริน, โปรลิน, อะลานิน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกรดอะมิโนชนิดที่ร่างกายต้องการ (Essential amino acid)

สาระสำคัญในดอกคำฝอย
       ต้นคำฝอยที่นำมาใช้ประโยชน์กันนั้นจะมีส่วนดอกและส่วนของเมล็ด ซึ่งก็นำมาใช้ประโยชน์ในรูปแบบต่างๆ กัน  เช่น ดอกคำฝอยก็นำมาตากแห้งเพื่อใช้ชงดื่ม ส่วนเมล็ดก็นำไปสกัดน้ำมันเพื่อใช้ประกอบอาหาร ส่วนกากของเมล็ดที่มีโปรตีนถึง 20% ก็นำมาแปรรูปเป็นอาหารมนุษย์และใช้เลี้ยงสัตว์ จากการวิเคราะห์ของนักวิทยาศาสตร์ในห้องปฏิบัติการ เพื่อตรวจสอบสารประกอบต่างๆ ที่มีอยู่ในต้นคำฝอยพบว่าทั้งในดอกและเมล็ดมีสารต่างๆ ที่สำคัญ ดังนี้
       ดอก ในดอกคำฝอยประกอบด้วยสารสีแดงชื่อ คาร์ทามิน (Carthamin) และสารสีเหลืองชื่อแซฟฟลาวเวอร์ เยลโล (Safflower yellow) ซึ่งเป็นสารที่ละลายน้ำได้ นอกจากนี้ยังประกอบด้วยกรดไขมันชนิดไม่อิ่มตัวหลายชนิด  เช่น กรดไลโนเลอิก, โปรตีน, เบต้า-แคโรทีน (ß-caratene), วิตามินอี เป็นต้น
       เมล็ด ในเมล็ดได้มีการสกัดน้ำมันจากเมล็ดดอกคำฝอย (Safflower seed oil) ซึ่งได้จากการบีบเมล็ด ประกอบด้วย เบต้า-แคโรทีน (ß-Carotene) กรดไขมันชนิดไม่อิ่มตัวหลายชนิดในปริมาณสูง  เช่นกรดไลโนเลอิก (Linoleic acid) กรดไลโนลิก (Linolic acid) กรดโอเลอิก (Oleic acid) เป็นต้น

คุณประโยชน์และฤทธิ์ทางยา
       ดอกคำฝอย
      1.ใช้แต่งสีอาหาร เครื่องดื่มต่างๆ และเครื่องสำอาง ให้มีสีแดง-ส้ม ใช้แทนหญ้าฝรั่น และใช้ในอุตสาหกรรมสี น้ำมันชักเงา น้ำมันซักแห้ง (drying oil) ใช้ผสมสีขาวหรือสีอ่อน เพราะเป็นน้ำมันที่ไม่เปลี่ยนเป็นสีเหลืองเมื่อเก็บไว้นานอย่างน้ำมันพืชบางชนิด
       2.มีฤทธิ์ยับยั้งไวรัส และเชื่อเบคทีเรีย จากรายงานการวิจัย พบว่าสารสกัดดอกคำฝอยด้วยน้ำร้อนมีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อไวรัสซึ่งเป็นสาเหตุของโรคโปลิโอ และสารสกัดจากดอกคำฝอยด้วยแอลกอฮอล์สามารถฆ่าเชื้อแบคทีเรียที่ทำให้เกิดหนองได้ ดังนั้นเมื่อต้มดอกคำฝอยซึ่งมักใช้อาบน้ำเวลาออกหัด เพื่อแก้อาการคันตามผิวหนัง ก็อาจจะเนื่องมากจากฤทธิ์ฆ่าเชื้อแบคทีเรียนั่นเอง
   3.ตามตำรายาแพทย์ไทยใช้ดอกคำฝอยเป็นยาบำรุงโลหิตประจำเดือนของสตรี บำรุงหัวใจ บำรุงประสาท แก้โรคผิวหนัง ขับระดู แก้ดีพิการ เป็นต้น
      4.ลดไขมันในเลือด ป้องกันไขมันอุดตัน และช่วยลดความอ้วนอีกด้วย ทั้งนี้ เนื่องมาจากในดอกคำฝอยมีส่วนประกอบของกรดไขมันชนิดไม่อิ่มตัวอยู่บ้าน ซึ่งปริมาณไม่สูงเท่าในน้ำมันซึ่งบีบจากเมล็ดกรดไขมันไม่อิ่มตัวที่สำคัญ คือ กรดไลโนเลอิก (Linoleic acid) จะช่วยทำปฏิกิริยากับไขมันและคอเลสเตอรอล ทำให้การเกาะตัวของไขมันตามเส้นเลือดต่างๆ น้อยลง จะทำให้ลดโอกาสที่จะเกิดโรคไขมันอุดตันในเส้นเลือดได้
       น้ำมันเมล็ดดอกคำฝอย
       1.ช่วยลดไขมันในเลือด ในเมล็ดดอกคำฝอยที่สกัดนั้น จะมีกรดไลโนเลอิกที่เป็นกรดไขมันชนิดไม่อิ่มตัวสูง ร้อยละ 75 ซึ่งเชื่อว่าจะทำให้ปริมาณคอเลสเตอรอลในเลือดต่ำลงและจากผลการวิจัยในสัตว์ทดลองและในคนพบว่า น้ำมันดอกคำฝอยช่วยทำให้ปริมาณคอเลสเตอรอลในเลือดลดลงได้จริง และยังมีรายงานว่าน้ำมันคำฝอยทำให้ฤทธิ์ของเอนไซม์ที่ใช้สร้างกรดไขมันลดลงอีกด้วย
       2.ช่วยป้องกันไขมันอุดตันในหลอดเลือด จากผลการวิจัยในสัตว์ทดลองและในคนพบว่า น้ำมันดอกคำฝอยจะช่วยให้การอุดตันของไขมันในหลอดเลือดลดลง และช่วยป้องกันการอุดตันของไขมันในเลือดได้ ทั้งนี้จากรายงานของ ศาสตราจารย์ นายแพทย์สนอง อูนากูล หัวหน้าภาควิชาเคมีของโรงพยาบาลศิริราชได้ทำการทดลองแล้วได้ผลเป็นที่น่าพอใจ
       3.น้ำมันดอกคำฝอยจะช่วยลดการจับตัวของเกล็ดเลือด ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคหัวใจวายลงได้ เนื่องจากกรดไขมันชนิดไม่อิ่มตัวที่ชื่อ ไลโนเลอิก (Linoleic acid)

1 comment:

  1. หาส่วนประกอบของน้ำมันดอกคำฝอยมาตั้งนาน เพิ่งมาพบที่นี่ เพราะจำเป็นต้องร็ว่า แต่ละส่วนเป็นอย่างไร เพระต้องใช้รักษาผู้ป่่วยมะเร้ง

    ReplyDelete