Saturday 28 April 2012

ว่านหางจระเข้ (Aloe vera)


โภชนารักษาโรค

ว่านหางจระเข้ (Aloe vera)


ว่านหางจระเข้ มีชื่อเรียกแตกต่างกัน  เช่น ทางภาคเหนือเรียกว่าว่านไฟไหม้ ภาคกลางเรียกว่านตะเข้หรือหางจระเข้หรือหางจระเข้ ส่วนชาวจีนเรียกว่านำเต็ก ว่านหางจระเข้เป็นพืชพื้นเมืองของอาฟริกาใต้ แต่ได้มีผู้นำมาปลูกในประเทศอากาศร้อนทั่วๆ ไป

ลักษณะของว่านหางจระเข้
       ใบหนาประมาณ 1 นิ้ว ยาว 30 นิ้ว กว้าง 30 นิ้ว โคนใบใหญ่ปลายในแหลมมีหนามแหลมตามริมครีบใบ ใบสีเขียว มีกระขาว อวบอ้วนภายในมีวุ้นและเมือก โคนต้นพ้นดินเล็กน้อยก้านดอกแทงขึ้นจากกลางต้นเป็นก้านแข็งสูงประมาณ 2 ฟุต ดอกสีแดงอมเหลือง คล้ายดอกซ่อนกลิ่นตูมๆ ว่านหางจระเข้ที่รู้จักกันดีมี 2 พันธุ์ คือ Aloe vera และ Aloe barbadensis

ส่วนของว่านหางจระเข้ที่นำไปใช้ประโยชน์
       ระยะแรกๆ จะใช้แต่ส่วนของยาง (Latex) มีลักษณะเหลวสีเหลืองเข้มรสขมนำมาใช้เป็นยาระบายหรือเรียกว่า ยาดำ (Aloes) ซึ่งว่านหางจระเข้แต่ละชนิดจะให้ยาดำต่างชนิดกันต่อมาได้มีการทดลองใช้ส่วนของวุ้นที่เป็นเมือก (Alose Vera Gel) มารักษาโรคกันมากขึ้น

การใช้ว่านหางจระเข้เป็นยารับประทาน
       ให้รับประทานส่วนที่เป็นวุ้นโดยล้างน้ำให้ยางออกให้หมดรับประทานวันละ 2 ครั้งๆ ละ 1-2 ช้อนโต๊ะ เช้า-เย็น ปกติวุ้นจะมีรสเฝื่อน อาจเติมน้ำตาลเพื่อช่วยกลบรสขม ถ้าล้างยางออกไม่หมดจะมีรสขม

ประโยชน์ของว่านหางจระเข้
       น้ำว่านหางจระเข้หรือน้ำอโลเวร่าเป็นเครื่องดื่มที่มีคุณค่าทางโภชนาการมากให้ทั้งแร่ธาตุและวิตามินที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย ว่านหางจระเข้เป็นพืชชนิดเดียวที่มีวิตามินบี 12 ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการสร้างเม็ดเลือดและบรรเทาปัญหาด้านสุขภาพ  เช่น
-แก้โรคกระเพาะและลำไส้อักเสบ มีส่วนช่วยในการทำงานของกระเพาะอาหารและลำไส้ให้ดีขึ้นโดยว่านหางจระเข้มีฤทธิ์ในการสมานแผล สามาห้ามเลือดเมื่อเกิดแผลในกระเพาะ ให้รับประทาน ครั้งละ 1-2 ช้อนโต๊ะ วันละ 2-3 ครั้ง
-แก้ท้องผูก ว่านหางจระเข้มีสารอะโลอินและสารอะโลอีนีน จึงใช้เป็นยาระบายรักษาอาการท้องผูกได้ผลดีหรืออาจรับประทานในรูปของยาดำก็ได้
-ความดันโลหิตสูง ว่านหางจระเข้สามารถทำให้เส้นโลหิตอ่อนตัว ยืดหยุ่นได้ดีและกระตุ้นการไหลเวียนของโลหิต จึงป้องกันอาการแทรกซ้อนของโรคที่เกิดจากเส้นโลหิตในสมองแตก
-โรคเบาหวาน ว่านหางจระเข้สามารถกระตุ้นกระบวนการทำงานของตับอ่อนซึ่งจะทำหน้าที่ ผลิตฮอร์โมนอินซูลินช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในระดับปกติและช่วยให้เซลล์ที่ทำหน้าที่นำอินซูลินไปใช้สามารถทำงานได้ดียิ่งขึ้น จึงใช้เป็นยารักษาควบคู่กับยาแผนปัจจุบัน
-โรคตับอักเสบ ว่านหางจระเข้สามารถกระตุ้นกระบวนการเมตาโมลิซึมในร่างกายและมีบทบาทในการแก้พิษ เพิ่มภูมิคุ้มกันในร่างกาย ช่วยเสริมสมรรถภาพการทำงานของตับให้ดียิ่งขึ้น จึงใช้เป็นยารักษาควบคู่ไปกับยาแผนปัจจุบันได้
-โรคหืดหอบ ว่านหางจระเข้สามารถแก้โรคหืดหอบได้ จะต้องมีความอดทนในการรับประทานว่านหางจระเข้ติดต่อกันเป็นเวลานานอย่างน้อย 1-2 เดือน จึงจะได้ผล
-โรคปวดตามข้อ รับประทานว่านหางจระเข้เป็นประจำโดยรับประทานครั้งละ 1-2 ช้อนโต๊ะ วันละ 2-4 ครั้ง อาการจะทุเลาลงและจะค่อยๆ หายไปเองหรือถ้าใช้วุ้นทาบริเวณที่ปวดด้วยจะช่วยให้อาการปวดหายเร็วขึ้น
-บำรุงร่างกาย รับประทานว่านหางจระเข้เป็นประจำทุกวัน จะทำให้ร่างกายสดชื่นกระปรี้กระเปร่า แข็งแรง
-บำรุงสายตา รับประทานว่านหางจระเข้เป็นประจำ จะทำให้สายตาไม่พร่ามัว
-ความดันโลหิตสูง (เลือดจาง) ว่านหางจระเข้สามารถกระตุ้นการไหลเวียนของโลหิตและกระบวนการเมตาโบลิซึมของร่างกาย หากรับประทานเป็นประจำและต่อเนื่องเป็นเวลานานจะช่วยเสริมสุขภาพผู้ป่วยที่เป็นความดันโลหิตต่ำได้
-ไข้หวัด เนื้อว่านหางจระเข้มีสรรพคุณระงับการขยายตัวของเชื้อไข้หวัดใหญ่ได้และป้องกันการติดเชื้อไข้หวัด หรือสำหรับผู้ที่เป็นหวัดอยู่แล้วหากรับประทานว่านหางจระเข้ด้วยจะช่วยให้หายเร็วขึ้น
-การเมารถ เมาเรือ ขณะเดินทางเกิดอาการเมารถหรือเมาเรือ รู้สึกหงุดหงิด วิงเวียนศีรษะ ไม่สบาย การรับประทานว่านหางจระเข้ จะช่วยกระตุ้นการทำงานของกระเพาะ ลำไส้ และมีผลในการช่วยกล่อมประสาท
-เมาค้าง ผู้ป่วยที่เมาค้างจะมีอาการปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน เนื่องจากการทำงานของตับบกพร่อง หากได้รับประทานว่านหางจระเข้จะช่วยให้ตับสามารถทำงานได้เป็นปกติเร็วขึ้น เนื่องจากว่านหางจระเข้ช่วยสลายพิษได้
              นอกจากที่กล่าวมาข้างต้น น้ำวุ้นจากใบว่านหางจระเข้ยังใช้เป็นยาทาภายนอกได้  เช่น รักษาแผลไหม้ที่เกิดจากการฉายรังสี รักษาแผลไฟไหม้และน้ำร้อนลวก ผิวไหม้เพราะแดดเผา แผลจากของมีคม ผื่นคันที่เกิดจากการแพ้สารต่างๆ ขี้เรื้อน เลือดดำขอดที่ขา พิษแมลง แมงกะพรุน และใบตำแย รักษาสิว บำรุงผิวหนัง

ข้อควรระวังในการใช้ว่านหางจระเข้
     1.เมื่อใช้เป็นยาทา บางคนอาจมีอาการแพ้ เกิดผื่นคันและปวด ดังนั้นก่อนใช้ควรทดลองทาดูเล็กน้อยที่หลังหูหรือที่รักแร้ หาก 2-3 นาที ไม่มีอาการผิดปกติเกิดขึ้น ก็แสดงว่าใช้ได้
       2.เมื่อใช้เป็นยากิน สำหรับยางและยาดำไม่ควรกินมากเกินไป เพราะสารอะโลอินที่มีอยู่ในยางว่านหางจระเข้มีฤทธิ์เป็นยาระบาย ถ้ากินมากเกินไปจะทำให้ท้องเสียและปวดท้องเพราะลำไส้เกร็ง และถ้ากินติดต่อกันนานๆ อาจทำให้แท้งลูกและทำให้ลูกที่กินนมแม่ท้องเสียได้

วิธีการใช้ว่านหางจระเข้ให้เกิดประโยชน์
1.ผู้รับประทานว่านหางจระเข้ครั้งแรก เด็กเล็กและผู้สูงอายุ ควรใช้ในปริมาณน้อยหรือเจือจางก่อน
2.ควรเลือกรับประทานว่านหางจระเข้สดที่มีอายุไม่ต่ำกว่า 1 ปี และเป็นสายพันธุ์ที่มีสรรพคุณเป็นยา
3.ในการรับประทานว่านหางจระเข้ในช่วงไม่สบายควรรับประทานหลังอาหาร
4.ไม่ควรใช้ว่านหางจระเข้ในสตรีระยะตั้งครรภ์หรือมีประจำเดือน เพราะอาจเกิดเลือดคลั่งในมดลูกได้ ประจำเดือนอาจมากกว่าปกติ หรืออาจเกิดการแท้งลูกได้ในหญิงตั้งครรภ์
         สำหรับบางคนที่ร่างกายไม่คุ้นกับว่านหางจระเข้ เมื่อรับประทานว่านหางจระเข้แล้วมีอาการท้องเสีย หรือคลื่นไส้อาเจียน ถ้ามีอาการดังกล่าวต้องหยุดรับประทานว่านหางจระเข้เป็นการชั่วคราว สังเกตสักช่วงระยะหนึ่งแล้วจึงทดลองรับประทานใหม่อีกครั้ง
              อย่างไรก็ตามถึงแม้ว่าว่านหางจระเข้จะมีสรรพคุณมากมายหลายอย่างแต่มันก็ไม่ใช่ยาวิเศษที่ใช้รักษาได้สารพัดโรค ฉะนั้นจึงควรต้องทำความเข้าใจถึงสรรพคุณของว่านหางจระเข้เสียก่อนแล้วจึงค่อยนำมาใช้มิฉะนั้นอาจเป็นอันตรายและเกิดโทษได้

ผลิตภัณฑ์อาหารว่านหางจระเข้
       ปัจจุบันได้มีการนำว่านหางจระเข้มาแปรรูปทำเป็นน้ำวุ้นว่านหางจระเข้ น้ำว่านหางจระเข้ผสมน้ำผลไม้ ชาว่านหางจระเข้ วุ้นว่านหางจระเข้แช่อิ่ม วุ้นว่านหางจระเข้ผง เป็นต้น เพื่อให้สะดวกและง่ายต่อการรับประทาน เพราะปกติวุ้นว่านหางจระเข้จะมียางที่มีรสขมทำให้ผู้ที่รับประทานมีความรู้สึกเหมือนกินยาและเหม็นกลิ่นว่านหางจระเข้

No comments:

Post a Comment