Saturday 5 May 2012

งา

โภชนาการรักษาโรค
งา
ธัญพืชเพื่อสุขภาพอันทรงคุณค่า
 
         ในสภาวะปัจจุบันนี้จะพบว่า มนุษย์ตกอยู่ในสภาพเสี่ยงต่ออันตรายที่สามารถเกิดได้ทุกเมื่อจากมลภาวะต่างๆ ที่ทุกฝ่ายต่างตระหนักถึงความสำคัญและกำลังเร่งแก้ไขแต่ยังไม่สามารถแก้ได้ ไม่ว่าจะปัญหารถติดซึ่งเป็นปัญหาสำคัญของคนเมือง ปัญหามลภาวะทางน้ำ อากาศ หรือเสียง สิ่งเหล่านี้จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพทั้งด้านร่างกาย และจิตใจของมนุษย์อย่างไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ จุดนี้นี่เองที่ทำให้คนเราพยายามคิดค้นอาหารเสริมต่างๆ ที่มีคุณค่าต่อสุขภาพ เพื่อจะเป็นภูมิต้านทานทำให้ร่างกายสามารถทนต่อสภาวะต่างๆ ได้ นักวิชาการด้านโภชนาการพยายามคิดค้นอาหารเสริมสุขภาพ ซึ่งจะพบว่ามีวางขายอยู่มากมายหลายชนิด สินค้าประเภทนี้มักมีราคาแพง ขณะเดียวกัน ยังมีธัญพืช อีกชนิดหนึ่ง ที่หลายคนอาจคิดไม่ถึงว่ามีคุณค่ามหาศาลในการเสริมสุขภาพ และที่สำคัญ คือ ราคาถูกหาซื้อได้ง่ายในท้องตลาด ธัญพืชชนิดนั้นก็คือ “งา” นั่นเอง

ชื่อวิทยาศาสตร์ Sesamum indicum L.
ลักษณะ : งาเป็นพืชล้มลุกชนิดหนึ่ง มีผลเป็นฝัก มีเมล็ดเล็กๆ 2 ชนิด คือ สีขาว และสีดำ ซึ้งทั้ง 2 ชนิดมีสรรพคุณใกล้เคียงกัน ใช้ปรุงอาหาร หรือสกัดน้ำมัน คือ น้ำมันงาซึ่งใช้เป็นยาได้
 

คุณค่าทางด้านสุขภาพของงา
       1.งาประกอบด้วยน้ำมันประมาณ 47-60 เปอร์เซ็นต์ ส่วนใหญ่เป็นกรดไขมันไม่อิ่มตัว ได้แก่โอลีอิคแอซิด ประมาณร้อยละ 47 และไลโนลีอิคแอซิด ประมาณร้อยละ 39 กรดนี้จะช่วยควบคุมระดับคอเลสเตอรอลไม่ให้มากเกินไป ในทางการแพทย์แผนปัจจุบันได้ใช้น้ำมันงาเป็นส่วนผสมในยาลดปริมาณคอเลสเตอรอลในเลือด เพื่อควบคุมระดับคอเลสเตอรอลไม่ให้สูงเกินไป ป้องกันไม่ให้เลือดแข็งตัว ป้องกันโรคหัวใจ และโรคเกี่ยวกับ หลอดเลือดบางชนิด น้ำมันที่สกัดได้เป็นน้ำมันที่ดีเยี่ยม เนื่องจาก
              - เก็บไว้ได้นาน ไม่เหม็นหืน
              - ไม่จับแข็งเป็นก้อน
              - มีกลิ่นหอมน่ากิน
           2.งามีโปรตีน 20-27% มีกรดอะมิโนที่สำคัญ  เช่น ไลซีน ประมาณ 2.9% เมไธโอนีน ประมาณ 3.3% และมีแร่ธาตุประมาณ 4.1-6.6%  เช่น ธาตุเหล็ก ธาตุไอโอดีน ธาตุสังกะสี ธาตุแคลเซียม และฟอสฟอรัส และยังประกอบด้วย วิตามินบีต่างๆ  เช่น บี1, บี2, บี3, บี5, บี6 และบี9
           3.แพทย์แผนโบราณของไทย ใช้น้ำมันงานวดในกรณีกระดูกหัก เพราะเชื่อว่าจะช่วยให้กระดูกติดเร็ว และช่วยให้ผิวหนังที่บวมยุบตัวลง ตำราอินเดียใช้น้ำมันงานวดระงับอาการปวด บวม ที่เกิดจากการเคล็ดขัดยอก หรือปวดเมื่อยตามตัว
           4.ในสมัยโบราณนิยมใช้น้ำมันงาทาบำรุงผิว ป้องกันผิวแตก ทาแก้ผิวไหม้เกรียมจากการถูกแดดเผา ใช้ทาแผลจะทำให้แผลหายเร็วขึ้น โดยไปลวกทาด้วย น้ำมันงาจะทะเลาจากอาการเจ็บปวด ถ้ามีเศษไม้ เศษแก้วฝังอยู่ในเนื้อ ใช้น้ำมันงาทาวันละ 2-3 ครั้ง ใน 2-3 วัน เศษที่ฝังอยู่นี้จะหลุดออกมา นอกจากนั้นน้ำมันงายังช่วย ดูดพิษ ดูดหนอง ได้อีกด้วย
           5.น้ำมันงาสามารถใช้เป็นส่วนประกอบของเครื่องสำอางหลายชนิดและสามารถใช้ทำน้ำบำรุงเส้นผมได้อีกด้วย
           6.งาที่ปลูกในประเทศไทยมีอยู่ 3 ชนิด คือ งาขาว งาดำ และงาแดง (งาเกษตร) ซึ่งมีพื้นที่ปลูก 10%, 25%, และ 65% ตามลำดับ แหล่งปลูกกระจายอยู่ทั่วประเทศ โดยปลูกมากที่สุดในภาคเหนือ ซึ่งให้ผลผลิตประมาณ 70% ของผลผลิตทั้งหมดทั่วประเทศ
       เมื่อได้ทราบกันแล้วว่า งา มีคุณค่าสูงด้านการบริโภค เพื่อส่งเสริมสุขภาพที่ดีจึงอยากจะแนะนำให้ทุกท่านลองมาพิจารณาเป็นอาหารประจำวันเพื่อสุขภาพกันดูบ้าง ซึ่งนอกจากจะใช้งาเป็นส่วนประกอบในอาหารคาวหวานแล้ว เรายังสามารถบริโภคโดยวิธีแบบเดียวกับที่ชาวจีนสมัยโบราณนิยม คือ  การนำงาที่กะเทาะเปลือกเรียบร้อยแล้ว มาผสมกับข้าวสารแล้วหุงพร้อมกันหรืออาจจะใช้วิธีคั่วแล้วรับประทานโดยตรงก็ได้ งาที่คั่วแล้วจะมีกลิ่นหอม และมีรสอร่อยมาก ถ้าคนไทยนิยมบริโภคงาเป็นอาหารเสริมมากขึ้นโดยไม่ต้องพึ่งพาการนำเข้าจากต่างประเทศมากนัก ดังนั้นเราลองหันมาพิจารณาของดีใกล้ตัวกันดีกว่าที่จะไปซื้อของต่างประเทศ โดยเฉพาะอาหารเสริมสุขภาพราคาแพงๆ ที่นิยมบริโภคกันทั้งหลาย

No comments:

Post a Comment