Wednesday 9 May 2012

กรดแพนโทเทนิก


โภชนาการรักษาโรค
กรดแพนโทเทนิก

กรดแพนโทเทนิก (Vitamin B5)
       กรดแพนโทเทนิกมาจากภาษากรีกแปลว่า เกิดขึ้นทุกหนทุกแห่ง กรดนี้ อาร์ เว วิลเลี่ยมค้นพบในปี ค.ศ. 1933 และมีผู้สังเคราะห์ขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1940 กรดนี้มีลักษณะเป็นของเหลวข้น สีเหลือง ละลายได้ดีในน้ำ สลายตัวง่ายเมื่อได้รับความร้อน กรด และด่าง ในธรรมชาติมักเกิดในรูปเกลือแคลเซียม

การดูดซึมของกรดแพนโทเทนิก
       ร่างกายจะดูดซึมกรดแพนโทเทนิกที่ลำไส้เล็กเข้าไปในร่างกาย เนื้อเยื่อต่างๆ สามารถเปลี่ยนให้เป็น Coenzyme A ได้ การขับถ่ายส่วนมากจะถูกขับถ่ายออกทางปัสสาวะ ส่วนน้อยที่จะขับออกทางเหงื่อและทางน้ำนม เด็กแรกเกิดมีระดับกรดแพนโทเทนิกในเลือดสูงกว่าแม่ประมาณ 5 เท่า

ประโยชน์ของกรดแพนโทเทนิก
       1.เป็นส่วนประกอบของโคเอนไซม์ เอ (COA) ซึ่งจำเป็นในการสร้างพลังงานจากสารโปรตีน คาร์โบไฮเดรท และไขมัน
           2.เป็นวิตามินต่อต้านความเครียด
           3.ป้องกันผมร่วง และสีผมจางลง
           4.จำเป็นต่อการทำงานของต่อมหมวกไต ในการผลิตคอร์ติโซน และฮอร์โมนอื่นๆ
           5.ช่วยในการสร้างแอนติบอดี้เป็นไปตามปกติ

ความต้องการกรดแพนโทเทนิก
       อาหารทั่วไปมีกรดนี้ประมาณ 6-20 มิลลิกรัม นอกจากนี้ อาจได้รับจากการสังเคราะห์ของแบคทีเรีย เด็กและผู้ใหญ่ควรรับประทานกรดนี้ วันละ 5-10 มิลลิกรัม หญิงมีครรภ์และให้นมบุตรควรรับประทานเท่าคนปกติ นมแม่มีกรดนี้ลิตรละ 2 มิลลิกรัม ส่วนนมวัวมีลิตรละ 3.5 มิลลิกรัม

ผลของการขาดกรดแพนโทเทนิก
       อาการของการขาดกรดแพนโทเทนิกมักไม่แสดงออกชัดเจนนัก จากผลการทดลองที่ได้ ทดลองในคนโดยให้รับประทานอาหารที่ขาดกรดแพนโทเทนิกรวมทั้งได้เติมกรดโอเมก้า-เมทิล แพนโทเทนิก (Methyl pantothenic acid) ซึ่งเป็นสาเหตุต้านฤทธิ์ (Antagonist) เข้าไปด้วยจะพบว่ามีความผิดปกติเกิดขึ้นและมีอาการดังนี้ คือ เบื่ออาหาร (Loss Appetite) อาหารไม่ย่อย ปวดท้อง ซึมเศร้า จิตใจหดหู่ มีความผิดปกติทางจิต (Mental Depression) ที่อาจทำให้เสียสติได้ ปลายประสาทอักเสบ (Peripheal Neuritis) จะรู้สึกปวดชาบริเวณ แขน ขา และร้อนวูบวาบบริเวณ ปลายเท้า มีอาการนอนไม่หลับ (Insomnia) และเป็นโรคติดเชื้อขอบระบบทางเดินหายใจ (Respiratory Infections) ผู้ป่วยเหล่านี้มักจะมีความไวต่ออินซูลินเพิ่มขึ้น (Increased sensitive to insulin) และพบว่าเม็ดเลือดแดงจะมีการตกตะกอนสูงขึ้น (Increased sedimecntation rate of erythrocytes) นอกจากนี้การสร้างแอนติบอดี้จะลดลงกว่าปกติมาก

แหล่งอาหารที่ให้กรดแพนโทเทนิก
       กรดแพนโทเทนิกที่มีอยู่ในเนื้อของสัตว์ ส่วนใหญ่จะพบอยู่ในรูปของโคเอนไซม์เอ ซึ่งมีกระจายอยู่ในอาหารทั่วๆ ไปตามความหมายของชื่อกรดชนิดนี้  เช่น จะพบอยู่ในอาหารที่ได้จากสัตว์และพวกธัญพืช มีอยู่มากเป็นพิเศษในยีสน์ ตับ และไข่แดง พวกเนื้อสัตว์ชนิดต่างๆ ก็จัดเป็นอาหารที่ให้กรดแพนโทเทนิกสูง ส่วนนมสด ผัก ผลไม้ จะมีเพียงเล็กน้อยประมาณ 50% ของกรดแพนโทเทนิก จากส่วนของผิวนอกของเมล็ดธัญพืชจะสูญเสียไปกับการขัดสี รวมทั้งกระบวนการที่ใช้การอบและตากแห้งก็มีส่วนที่ทำให้สูญเสียวิตามินไปได้มากเช่นเดียวกัน

No comments:

Post a Comment