Saturday, 5 May 2012

แคลเซียม

โภชนาการรักษาโรค
แคลเซียม (Calcium)
 
 
แคลเซียม (Calcium)
       แคลเซียมเป็นแร่ธาตุที่มีในร่างกายมากที่สุด มีประมาณเกือบร้อยละ 2 ของน้ำหนักตัว ในผู้ใหญ่คิดเป็น 900-1,400 กรัม 99% เป็นส่วนประกอบของกระดูกและฟัน ส่วนที่เหลืออีก 1% จะอยู่ในน้ำและของเหลวในร่างกายตลอดจนในเนื้อเยื่อต่างๆ

หน้าที่และประโยชน์ของแคลเซียม
       1.เป็นองค์ประกอบของกระดูกและฟัน ช่วยให้กระดูกและฟันแข็งแรง
          2.เป็นตัวช่วยให้เลือดแข็งตัว โดยสร้างธรอมบินจากโปรธรอมบินและจะเปลี่ยน Fibrinogen ให้เป็น Fibrin
          3.ช่วยในการหดตัวของกล้ามเนื้อทั่วๆ ไปและกล้ามเนื้อหัวใจ
          4.ช่วยให้ระบบประสาททำงานได้ตามปกติ
          5.ช่วยกระตุ้นการทำงานของเอนไซม์  เช่น ไลเปสจากตับอ่อน
          6.ช่วยให้กระบวนการดูดซึมสารอาหารผ่านเยื่อบุเซลล์ที่ผนังลำไส้เล็กได้สะดวกขึ้น
          7.ช่วยให้การดูดซึมวิตามินบี12 ที่ตอนปลายของลำไส้เล็กสะดวกขึ้น

ปัจจัยที่ช่วยส่งเสริมการดูดซึมแคลเซียมในลำไส้
       ความต้องการของร่างกาย (Body need) เป็นปัจจัยสำคัญ ปกติคนเราจะมีอัตราการดูดซึมแคลเซียมประมาณ 30-40% ของอาหารที่ได้รับและปริมาณแคลเซียมที่ดูดซึมก็จะขึ้นอยู่กับความต้องการของร่างกายในขณะนั้น  เช่น ในระยะที่ร่างกายเจริญเติบโตจะต้องการแคลเซียมสูง ดังนั้นในวัยเด็ก หญิงตั้งครรภ์และหญิงให้นมบุตรมีอัตราการดูดซึมแคลเซียมสูงกว่าปกติประมาณ 50-60% และในผู้ใหญ่เพศชายมีอัตราการดูดซึมแคลเซียมสูงกว่าเพศหญิง

ปริมาณแคลเซียมที่ดูดซึมในร่างกายควบคุมโดย
       1.วิตามินดี เป็นวิตามินที่ละลายในไขมัน เราได้วิตามินจากแสงแดดและอาหาร รังสีอุลตร้าไวโอเลตจะเปลี่ยนเป็นไขมันใต้ผิวหนังให้กลายเป็นวิตามินดี จากนั้นร่างกายจึงหมุนเวียนเอาวิตามินดีจากผิวหนังไปใช้ สำหรับวิตามินดีชนิดที่เรารับประทานเข้าไปในรูปของน้ำมันตับปลา ซึ่งมักจะมีทั้งวิตามินเอและวิตามินดี ผนังลำไส้ของเราต้องการน้ำมันมาเป็นตัวละลายและพาเอาวิตามินดีเข้าสู่กระแสเลือด
          บทบาทของวิตามินดี คือ
           - เพิ่มการดูดซึมของแคลเซียมและฟอสฟอรัสจากผนังลำไส้ ให้ทำหน้าที่จับแคลเซียมเข้าสู่ร่างกาย
           - ช่วยในการออกฤทธิ์ของออร์โมนพาราไทรอยด์ เพิ่มการสลายแคลเซียมจากกระดูกให้เข้าสู่กระแสเลือด เพื่อลำเลียงแคลเซียมไปให้กับเซลล์ทั่วร่างกาย
          2.ต่อมพาราไทรอยด์ (Parathyroid gland) ต่อมนี้จะทำหน้าที่ผลิตฮอร์โมน พาราไทรอยด์ (Parathyroid hormone; PTH) เป็นฮอร์โมนที่มีบทบาทเหมือนแคลเซียมในเลือดต่ำลง
          ฮอร์โมนนี้จะเพิ่มการเปลี่ยนแปลงวิตามินดีธรรมดาให้กลายเป็นวิตามินดี1, 25 ไดไฮดรอกซีโคลีน แคลซิเฟอรอล ซึ่งพร้อมที่จะทำงานได้ทันที นับเป็นการเพิ่มแคลเซียมในเลือดได้ทันท่วงที ก่อนที่แคลเซียมต่ำจนเป็นอันตรายต่อร่างกาย เมื่อแคลเซียมในเลือดมีระดับสูงขึ้นมันจะไปกระตุ้นการผลิตฮอร์โมนแคลซิโตนิน ซึ่งฮอร์โมนตัวหลังนี้จะไปหยุดยั้งการสร้างฮอร์โมนพาราไทรอยด์ ระดับแคลเซียมในเลือดก็จะอยู่ตัวในระดับที่ร่างกายต้องการ และเมื่อใดที่ระดับแคลเซียมลดลง วงจรการทำงานของวิตามินและฮอร์โมนจากต่อมไทรอยด์ก็จะเริ่มต้นอีกครั้ง
          3.กรดอะมิโนบางตัวและความเป็นกรดของกระเพาะอาหาร มีส่วนช่วยให้การดูดซึมแคลเซียมดีขึ้น เรารู้ว่าแคลเซียมถูกดูดซึมผ่านผนังลำไส้ในรูปของประจุแล้วถูกลำเลียงเข้าสู่เซลล์ผนังลำไส้โดยจับกับโปรตีนตัวหนึ่ง แต่แคลเซียมในอาหารที่เรารับประทานเข้าไป มักจะเป็นแคลเซียมที่อยู่ในรูปที่ไม่ละลายน้ำ ดังนั้นก่อนการดูดซึมแคลเซียมจะต้องถูกทำให้อยู่ในรูปของประจุเสียก่อน ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นหน้าที่ของกรดในกระเพาะอาหาร เมื่อแคลเซียมกลายเป็นประจุแคลเซียมแล้วมันจึงจะถูกลำไส้เล็กส่วนต้นดูดซึมเข้าสู่ร่างกายเพื่อนำไปใช้ต่อไป

ปัจจัยที่ขัดขวางการดูดซึมแคลเซียมในลำไส้
       1.ฟอสฟอรัสในอาหารที่มากกว่าปกติอาจยับยั้งการดูดซึมแคลเซียมได้  เช่น การรับประทานอาหารประเภทเนื้อสัตว์ซึ่งมีฟอสฟอรัสสูงเพิ่มขึ้นแต่รับประทานอาหารประเภทนมซึ่งมีแคลเซียมมากลดลง มีผลทำให้การดูดซึมแคลเซียมจากนมลดลง
          2.อาหารที่มีใยอาหารสูง  เช่น พืชผักมักมีเกลือออกซาเลตและเกลือไฟเตตอยู่มาก ทำให้การดูดซึมแคลเซียมลดลงไป และใยอาหารยังมีกรดยูโรนิก (Uronic acid) ซึ่งสามารถรวมตัวกับแคลเซียมมีผลทำให้การดูดซึมแคลเซียมลดลงไปเช่นเดียวกัน
          3.อาหารที่มีไขมันสูงทำให้การดูดซึมแคลเซียมลดลง เนื่องจากแคลเซียมสามารถรวมตัวกับกรดไขมันได้เป็นเกลือของกรดไขมัน ทำให้ไม่สามารถดูดซึมแคลเซียมได้
          4.ปัจจัยอื่นๆ  เช่น การดื่มแอลกอฮอล์ ความเครียด การสูบบุหรี่จัด การดื่มกาแฟมาก และการบีบตัวของลำไส้ทำให้การดูดซึมแคลเซียมลดลงได้

ผลของการขาดแคลเซียม
       1.ในเด็กที่กำลังเติบโต หากขาดแคลเซียม ฟอสฟอรัสและวิตามินดีจะทำให้เป็นโรคกระดูกอ่อน (Ricket) โครงสร้างที่เป็นกระดูกจะเจริญไม่ปกติ (Deformity)
          2.ถ้าระดับแคลเซียมในเลือดต่ำกว่าปกติ ทำให้เกิดอาการชักกระตุกของกล้ามเนื้อแบบ Tetany
          3.ในหญิงมีครรภ์และหญิงให้นมบุตร เมื่อขาดแคลเซียมและวิตามินจะทำให้เป็นโรคกระดูกน่วม (Osteomalacia) เนื่องจากต้องใช้แคลเซียมสูงกว่าปกติ แต่ปริมาณแคลเซียมในอาหารและการดูดซึมไม่พอกับความต้องการแคลเซียมที่อยู่ในกระดูกจะถูกนำมาใช้
          สำหรับผู้ที่ได้รับแคลเซียมจากอาหารต่ำ ไม่เพียงพอเป็นระยะเวลานาน ทำให้ความหนาแน่นของเนื้อกระดูก (Bone density) น้อยกว่าปกติ เมื่ออายุหลัง 40 ปีไปแล้ว โดยเฉพาะผู้หญิงที่อยู่ในระยะหมดประจำเดือนและในวัยสูงอายุ ทำให้เกิดปัญหากระดูกพรุน (Osteoporosis) เนื่องจากแคลเซียมสลายออกมากจากกระดูก กระดูกที่สลายแคลเซียมออกมาก่อน ได้แก่ กระดูกขากรรไกร (Jawbone) ซึ่งทำให้ฟันโยกหลุดง่ายและมีปัญหาโรคเหงือกกระดูกสันหลังและกระดูกเชิงกราน

สรุปโรคกระดูกพรุนเกิดจากสาเหตุ
       1.กรรมพันธุ์ พบว่าถ้ามีญาติพี่น้องเป็นโรคกระดูกพรุน บุตรหลานก็อาจจะมีอาการของโรคกระดูกพรุนสูงถึง 80%
          2.การขาดวิตามินดีและการสูญเสียแคลเซียมผ่านทางผิวหนัง ปัสสาวะ อุจจาระ และไม่ได้รับแคลเซียมเพียงพอ โดยเฉพาะในวัยเด็กและวัยรุ่น เป็นสาเหตุสำคัญของโรคกระดูกพรุนได้เช่นกัน
          3.ฮอร์โมน การลดลงของฮอร์โมนเอสโตรเจนของหญิงวัยหมดประจำเดือนก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่ง ที่ทำให้การดูดซึมแคลเซียมลดลง
          4.การไม่เคลื่อนไหวหรือออกกำลังกายก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ความแข็งแรงของกระดูกเสื่อมลง
          5.การสูบบุหรี่ ดื่มสุรา กาแฟ และชา เป็นประจำจะลดประสิทธิภาพการดูดซึมธาตุแคลเซียมในร่างกาย ทำให้กระดูกเสื่อมและหดลงเร็ว

ผลเสียของการเป็นโรคกระดูกพรุน
       1.อาการปวดกระดูก หรือปวดหลังบริเวณที่กระดูกพรุนกร่อนบาง ที่พบบ่อยคือบริเวณกระดูกสันหลัง ในบางรายอาจมีการยุบตัวของกระดูกสันหลัง จึงทำให้มีอาการปวดบริเวณกระดูกสันหลัง จึงทำให้มีอาการปวดบริเวณกระดูกสันหลัง
          2.กระดูกหลังจะค่อม เตี้ยลง อาการนี้จะพบบ่อยในสตรีหลังหมดประจำเดือน เพราะว่าร่างกายขาดฮอร์โมนสตรีเอสโตรเจน
          3.กระดูกจะเปราะ หักง่าย เมื่อสูงอายุกระดูกข้อมือ สะโพกและกระดูกสันหลังจะหักได้ง่าย แม้จะเกิดอุบัติเหตุเล็กน้อย  เช่น การหกล้ม
          
วิธีป้องกันโรคกระดูกพรุน
       การเสริมสร้างให้เนื้อกระดูกแข็งแรง เพื่อชะลอโรคกระดูกพรุนเปราะในสตรีควรปฏิบัติตัวให้สม่ำเสมอ ดังนี้
         1.ควรรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ตามปริมาณที่เหมาะสม โดยเฉพาะธาตุแคลเซียม
         2.ออกกำลังกายให้เหมาะสมสม่ำเสมอจะช่วยให้ร่างกาย และจิตใจแจ่มใส  เช่น การวิ่ง การเดิน ว่ายน้ำหรือแอร์โรบิค
         3.การใช้ฮอร์โมนสตรีเอสโตรเจน และโปรเจสติน ต้องใช้ตามคำแนะนำแพทย์
         4.หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ได้แก่ การงดสูบบุหรี่ งดดื่มสุรา ไม่รับประทานยาสเตรียรอยด์ หรือดื่มน้ำชา กาแฟไม่เกินวันละ 2 แก้ว

ความต้องการแคลเซียมในร่างกาย
       ร่างกายของเราต้องการแคลเซียมตลอดชีวิต แต่ช่วงที่เราต้องการแคลเซียมสูงมาก คือ ในระยะที่กำลังเจริญเติบโต ได้แก่ วัยทารก เด็กวัยรุ่น หญิงตั้งครรภ์ และหญิงให้นมบุตร สำหรับวัยผู้ใหญ่แม้ว่าจะหยุดการเจริญเติบโตแล้ว แต่ก็ต้องการแคลเซียมเพื่อเป็นการป้องกันภาวการณ์ขาดแคลเซียม ซึ่งจะนำไปสู่ปัญหาโรคกระดูกพรุนในวัยสูงอายุ ปริมาณความต้องการแคลเซียมของคนวัยต่างๆ ได้กำหนดไว้ในตารางปริมาณสารอาหารที่แนะนำให้รับประทาน

ปริมาณแคลเซียมที่ควรได้รับประจำวันในแต่ละช่วงอายุต่อวัน
 
…………………………………………………………………………
(กองโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข พ.ศ. 2532)

แหล่งอาหารที่ให้แคลเซียมสูง
       อาหารที่มีปริมาณแคลเซียมมาก ได้แก่ พวกนม และผลิตภัณฑ์ปลาเล็กปลาน้อย ที่รับประทานทั้งกระดูก ไข่แดง ถั่วต่างๆ ผักสีเขียวเข้ม  เช่น คะน้า ผัก กาดเขียว ตำลึง

ปริมาณแคลเซียมเป็นมิลลิกรัมต่ออาหาร 100 กรัม
………………………………………………………………………………
(กองโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข พ.ศ. 2532)

No comments:

Post a Comment