Thursday, 3 May 2012

กระเทียม (Garlic)


โภชนาการรักษาโรค
กระเทียม (Garlic หรือ Allium sativum)
       คนส่วนใหญ่รู้จักกระเทียมมาช้านาน กระเทียมใช้เป็นอาหารประจำวันของทุกๆ บ้าน โดยใช้เป็นส่วนประกอบของเครื่องปรุงอาหารชนิดต่างๆ ส่วนของกระเทียมที่ใช้เป็นอาหารได้แก่ หัว ใบ สำหรับฤทธิ์ในทางยา กระเทียมก็เป็นที่รู้จักดีในวงการแพทย์แผนโบราณมานานกว่า 5,000 ปี ซึ่งถือว่าเป็นสมุนไพรที่มีประโยชน์มากมาย
       กระเทียมเป็นพืชล้มลุกที่มีถิ่นกำเนิดในทวีปยุโรป และทวีปเอเชียตอนกลางมีกลิ่นรสเฉพาะตัวที่รุนแรง เผ็ดร้อน ในปัจจุบันนอกจากจะนำมาประกอบอาหารแล้วบางคนก็อาจจะรับประทานกระเทียมสด, ดองหรือปัจจุบันนี้ได้มีการสกัดในรูปน้ำมันกระเทียม (Garlic oil) และกระเทียมผง (Garlic powder) หรือ เป็นแคปซูล เพื่อสะดวกในการบริโภคอีกด้วย

สาระสำคัญในกระเทียม
       จากข้อมูลในหนังสือคู่มือคุณค่าอาหารของกระทรวงเกษตรในสหรัฐอเมริกา กล่าวถึงคุณค่าทางอาหารของกระเทียมว่า มีปริมาณสารอาหารไม่มากนัก มีคาร์โบไฮเดรท 31% โปรตีน 6% นอกจากนั้นก็มีพวก วิตามินบี1, 2 วิตามิน C และแร่ธาตุพวกแคลเซียม, ฟอสฟอรัส, เหล็ก, โซเดียม, โปตัสเซียม ซึ่งจะเห็นว่าสารอาหารแต่ละตัวมีน้อยมากแต่มีสารอาหารที่น่าสนใจ อยู่ 2 ชนิด คือ ซีลีเนียมและวิตามิน B1 ชนิดพิเศษ
       ซีลีเนียม เป็นสารที่ร่างกายต้องการน้อย แต่ขาดไม่ได้ เพราะต้องใช้ในขบวนการเมตาโบลิสม์ (Metabolism) มีหน้าที่เป็นตัวต้านไม่ให้ออกซิเจนหลุดออกจากเม็ดเลือดแดง ทำให้เลือดของเราบริสุทธิ์ และเชื่อว่าซีลีเนียม ป้องกันไม่ให้โลหะหนักบางอย่าง  เช่น ปรอท หรือตะกั่วเป็นพิษต่อร่างกาย และเป็นการป้องกัน โรคหัวใจ ควบคุมความดันโลหิตให้ปกติ ช่วยป้องกันไม่ให้เนื้อเยื่อในร่างกายถูกทำลาย ซึ่งทำให้เกิดเส้นเลือดอุดตันได้
       วิตามินบี1 ชนิดพิเศษชื่อ อัลลิไทอามีน (Alli thiamine) ซึ่งมีผลต่อการทำงานของระบบประสาท และการเผาผลาญคาร์โบไฮเดรท ให้เป็นพลังงานแก่ร่างกาย โดยไม่สะสมในรูปของไขมัน ทำให้เกิดไขมันอุดตันในเส้นเลือด
       นอกจากนี้ นักวิทยาศาสตร์ได้ทำการวิเคราะห์ พบสารตัวอื่นๆ อีกหลายชนิดในกระเทียมซึ่งพอจะสรุปได้ดังนี้
       อัลลิซิน (Allicin) เชื่อว่าสารตัวนี้ทำให้กระเทียมมีคุณสมบัติเป็นยาปฏิชีวนะและแก้อาหารอักเสบได้
       อัลลิอิน (Alliin) สารนี้จะถูกเปลี่ยนโดยเอนไซม์ อัลลิเนส ซึ่งมีอยู่ในกระเทียม และจะทำงานเมื่อกระเทียมถูกทุบหรือสับ สารนี้มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อแบคทีเรียและแก้การอักเสบ
       ไดซัลไฟด์ (Disulfide) เชื่อว่าสารตัวนี้ สามารถลดคอเลสเตอรอลและสารไขมันอื่นๆ ได้
       นอกจากนี้ยังเชื่อว่ามีสารอื่นๆ อีกเช่น สารต้านเม็ดเลือดแตก ซึ่งป้องกันโรคโลหิตจาก สารต้านไขข้ออักเสบ สารปรับระดับน้ำตาลในเลือดซึ่งช่วยในผู้ป่วยเบาหวานได้ สาร Antioxidant ช่วยป้องกันการเน่าเปื่อยของอาหาร สารระงับการแข็งตัวของเลือด ป้องกันโรคหัวใจ เป็นต้น

ผลของกระเทียมต่อสุขภาพ
       การใช้ประโยชน์จากกระเทียมนั้นเป็นที่รู้จักของแพทย์มาตั้งแต่สมัยโบราณมานานกว่า 5,000 ปี ส่วนใหญ่จะใช้กระเทียมสดในการรักษาและบรรเทาอาการของโรคต่างๆ แต่กระเทียมสดจะมีข้อเสียตรงที่มีกลิ่นรุนแรง รสชาติเผ็ดร้อน ทำให้ผู้ป่วยบางคนทนไม่ได้ จึงทำให้การรักษาได้ผลไม่ดีเท่าที่ควร แต่ในปัจจุบันได้มีการสกัดกระเทียมในรูป น้ำมันกระเทียม (Garlic oil) และกระเทียมผง (Garlic powder) หรือเป็นแคปซูล เพื่อสะดวกในการบริโภคไม่มีปัญหาเรื่องรสชาติและกลิ่น ซึ่งประโยชน์ของกระเทียมมีมากมาย สามารถสรุปได้ดังนี้
       - ลดคอเลสเตอรอลในเลือดและไขมันในเลือดให้ลดลงในระดับปกติ
       - ช่วยป้องกันโรคหลอดเลือดอุดตัน และกล้ามเนื้อหัวใจหยุดทำงานแบบเฉียบพลัน
       - ช่วยลดความดันโลหิตสูง ให้อยู่ในระดับปกติได้
       - ช่วยลดและบรรเทาอาหารของโรคระบบทางเดินหายใจต่างๆ  เช่น โรคภูมิแพ้ ไข้หวัด ไอ หืด หลอดลมอักเสบ เจ็บคอ เสียงแหบ
       - ช่วยยับยั้งและฆ่าเชื้อโรค  เช่น แบคทีเรีย ซึ่งเป็นสาเหตุของโรค วัณโรค คอตีบ ปอดบวม ไทฟอยด์ คออักเสบ นอกจากนั้นยังรักษาอาการท้องเสีย และบิดอีกด้วย
       - ช่วยให้ระบบประสาทและสมองทำงานได้ดีขึ้น
       - ช่วยป้องกันการทำลายเนื้อเยื่อต่างๆ ในร่างกายจากอนุมูลอิสระซึ่งเป็นสาเหตุของโรคมะเร็ง
       - ช่วยลดปริมาณน้ำตาลในเลือด (รักษาและป้องกันโรคเบาหวาน) จากการทดลอง พบว่าสารในกระเทียมทำให้มีการกระตุ้นการหลั่งอินซูลินมากขึ้น ซึ่งช่วยในการเผาผลาญน้ำตาลให้มากขึ้นทำให้น้ำตาลในเลือดอยู่ในระดับปกติได้
       - ใช้ขับลม แก้จุกเสียด แน่นท้อง ท้องอืด ท้องเฟ้อ ขับเหงื่อ ขับปัสสาวะ และขับเสมหะ
       - จากข้อมูลข้างต้นจะเห็นว่ากระเทียมเป็นพืชสมุนไพร ที่มีประโยชน์มากมายต่อสุขภาพของผู้บริโภคซึ่งปัจจุบันก็สามารถจะเลือกบริโภคในรูปแบบต่างๆ ได้ตามความชอบ ความสะดวก ถ้าไม่ชอบกลิ่นของกระเทียมสด ก็สามารถรับประทานกระเทียมสกัดทั้งแบบเม็ดและแคปซูลได้เพราะจะไม่มีปัญหาเรื่องกลิ่นและรสชาติที่เผ็ดร้อน ทำให้สะดวกต่อการรับประทานเป็นประจำและยังไม่มีโทษพิษภัยอะไรในการบริโภคอีกด้วย ดังนั้นจึงควรที่จะหันมาบริโภคกระเทียมกันให้มากกว่านี้เพื่อสุขภาพของตัวท่านเองและคนที่ท่านรัก

No comments:

Post a Comment