Saturday, 5 May 2012

แมกนีเซียม

โภชนาการรักษาโรค
แมกนีเซียม (Magnesium)
 
 
แมกนีเซียม (Magnesium)
       แมกนีเซียมเป็นแร่ธาตุที่มีในร่างกายน้อยกว่าแคลเซียม และฟอสฟอรัส ผู้ใหญ่มีแมกนีเซียม ประมาณ 20-28 กรัม ประมาณ 40% พบอยู่ในกล้ามเนื้อและเนื้อเยื่อต่างๆ ประมาณ 1% พบอยู่ในน้ำภายนอกเซลล์ (Extracellular fluid) และที่เหลืออีกประมาณ 50% พบอยู่ในกระดูกและฟันโดยอยู่ในรูปเกลือฟอสเฟตหรือคาร์บอเนต

หน้าที่และประโยชน์ของแมกนีเซียม
       1.เป็นองค์ประกอบของกระดูกและฟันช่วยให้กระดูกและฟันแข็งแรง
          2.ช่วยในการคลายตัว (Relaxation) ของกล้ามเนื้อ ซึ่งหน้าที่นี้ตรงข้ามแคลเซียม
          3.เป็นตัวช่วยในการทำงานของเอนไซม์ (Cofactor) ในกระบวนการสร้างโปรตรีน
          4.มีหน้าที่ควบคุมการทำงานของระบบประสาทและกล้ามเนื้อ
          5.เป็นตัวช่วยกระตุ้นการทำงานของเอนไซม์ (Cofactor) ในปฏิกิริยา Oxidative posphorylation ซึ่งเป็นปฏิกิริยาที่เกี่ยวข้องกับการใช้พลังงานของเซลล์  เช่น การทำงานของกล้ามเนื้อ

เมตะบอลิซึมของแมกนีเซียม
       แมกนีเซียมจากอาหารที่รับประทานดูดซึมโดยวิธีแอคทีฟที่ลำไส้เล็กตอนต้น ซึ่งมีสภาวะเป็นกรดสามารถดึงดูดแมกนีเซียมได้ดี ในกรณีที่มีแมกนีเซียมน้อยจะมีการดูดซึมได้ถึง 75% อาหารที่มีแมกนีเซียมมากจะดูดซึมได้เพียง 25% เท่านั้น นอกจากนั้นปริมาณการดูดซึมแมกนีเซียมมากหรือน้อย ยังขึ้นอยู่กับปริมาณแคลเซียมในอาหารอีกด้วย คือ ถ้าอาหารมีแคลเซียมมากการดูดซึมแมกนีเซียมจะมีปริมาณน้อย แต่ถ้าอาหารปริมาณแคลเซียมน้อยจะดูดซึมแมกนีเซียมได้มาก
          ระดับแมกนีเซียมในเลือดควบคุมโดยไต แมกนีเซียมในเลือดประมาณ 70% ไม่ได้รวมอยู่กับโปรตีน ดังนั้นจึงถูกไตกรองออกไปได้ แต่แมกนีเซียมประมาณ 30% ที่ถูกกรองออกไปจะดูดซึมกลับคืนเข้าสู่กระแสเลือดที่หลอดไตส่วนต้น (Proximal tubule) และอีก 65% จะถูกดูดซึมกลับคืนที่หลอดไตส่วน Loop of Henle ในผู้ใหญ่ปกติแมกนีเซียมจะขับถ่ายออกไปทางปัสสาวะประมาณ 100-200 มิลลิกรัมต่อวัน นอกจากนี้แมกนีเซียมบางส่วนจะถูกขับออกทางอุจจาระ

ผลของการขาดแมกนีเซียม
       ในภาวะปกติมักไม่พบปัญหาการขาดแมกนีเซียมในคน เนื่องจากแมกนีเซียมสามารถสลายออกจากกระดูกได้อย่างช้าๆ ซึ่งจะต่างจากแคลเซียม นอกจากว่าการดูดซึมไม่ปกติ โดยเฉพาะอาหารที่มีไขมันมาก มีแคลเซียมมาก และมีฟอสเฟตมาก จะทำให้แมกนีเซียมตกตะกอนและดูดซึมน้อยซึ่งจะมีอาการ ดังนี้
          1.ทำให้ระบบทางเดินอาหารผิดปกติ
          2.ประสาทไว ตกใจง่าย
          3.มีอาการผิดปกติของประสาท กล้ามเนื้อ อาการสั่น ไม่สามารถบังคับอวัยวะต่างๆ ให้เคลื่อนไหวได้ตามต้องการ
          4.ผู้ที่ขาดแมกนีเซียม จะมีปัญหาระดับแคลเซียมในเลือดต่ำด้วย ซึ่งต้องแก้ไขโดยการให้เกลือแร่ทั้งแมกนีเซียมและแคลเซียมควบคู่กันไป
          นอกจากนั้นการขาดแมกนีเซียมอาจพบได้ในผู้ป่วยที่เป็นโรคพิษสุราเรื้อรัง ตับแข็ง ภาวการณ์ดูดซึมในลำไส้ผิดปกติ  เช่น โรคสปรู (Sprue) โรคขาดโปรตีน (Kwashiorkor) และเบาหวาน

ความต้องการแมกนีเซียมในร่างกาย
       การดูดซึมแมกนีเซียมที่ลำไส้เล็กและการขับถ่ายออกทางไตเป็นการควบคุมภาวะสมดุลของแมกนีเซียมถึงแม้ปริมาณในอาหารจะเปลี่ยนแปลงมากก็ตาม

ปริมาณแมกนีเซียมที่ควรได้รับประจำวันในแต่ละช่วงอายุ

……………………………………………………………………………………
(กองโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข พ.ศ. 2532)

 
แหล่งอาหารที่ให้แมกนีเซียมสูง
       อาหารที่มีโปรตีนและฟอสฟอรัสจะมีแมกนีเซียมด้วย ได้แก่ เนื้อสัตว์ ไข่ นม ถั่วเมล็ดแห้ง ธัญพืชที่ไม่ผ่านการขัดสี และผักใบเขียว ปริมาณแมกนีเซียมในอาหารจะลดลงได้มากจากการประกอบอาหารที่เทน้ำทิ้งไป นอกจากนั้นกระบวนการแปรรูปอาหารประเภทธัญพืชด้วยการขัดสี ก็จะทำให้สูญเสียแมกนีเซียม  เช่น ข้าวสารที่ขัดสีจนขาว
 

 

ปริมาณแมกนีเซียมเป็นมิลลิกรัมต่ออาหาร 100 กรัม

………………………………………………………………

No comments:

Post a Comment